วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

Metropolis - หนังไซไฟ ตอนที่ 3 (จบ)


- ชม Metropilis ฉบับเต็ม -



จากคำถามที่ค้างไว้ตอนที่แล้ว ในตอนที่ 2 (Metropolis - หนังไซไฟ" ตอนที่ 2  คลิกที่นี่ )...

...เป็นคำถามที่น่าสนใจถามทิ้งไว้ในยุคนั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่ถึงปี 2063 (ตามเหตุการณ์ในท้องเรื่อง) เหลืออีกหลายปี แต่ก็คงพอมองออกถึงคำตอบทั้งสามข้อได้อย่างเป็นรูปธรรม และแม้ว่าสำหรับ กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่จังหวัดต่างๆของประเทศไทยเรา...จะไม่ใช่เมืองใหญ่ๆในโลก แต่ในสภาพบ้านเมืองที่ทันยุคสมัยของกรุงเทพฯ ทั้งสาธารณูปโภค, การจราจร ,ความหนาแน่นของประชากร, ความเจริญในเมืองต่างๆ พร้อมทั้งคำว่า Bangkok Metropolis ก็อยู่ในความหมายของ กรุงเทพมหานคร หรือ มหานครกรุงเทพ ได้นั้น หรือดั่งคำที่ว่า มองละคร แล้วย้อนดูตัวก็ได้เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สามารถหาคำตอบทั้งสามข้อข้างต้นเทียบกับ Metropolis เป็นกรุงเทพมหานครได้ ดังนี้

จากคำถามข้อ 1 ว่า...จะควบคุมเทคโนโลยีได้หรือไม่? ถ้าลองยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของคนเมือง แต่ทำไมพอมีมือถือรุ่นใหม่กว่า ออฟชั่นแปลกใหม่ ลูกเล่นแพรวพราว แล้วผู้คนยังต้องตามหามาครอบครองทั้งๆที่อันเก่าที่มีอยู่ก็ยังใช้ได้ เป็นการใช้จ่ายเพื่อเปลี่ยนตามเทคโนโลยีไป อย่างนี้ไม่รู้ว่าเราควบคุมเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยีควบคุมเรากันแน่...  ที่ทำให้มนุษย์เราต้องมีพฤติกรรมคอยตามตลอดเวลา นี่ยังไม่นับสิ่งที่กำลังถือว่าคนเมืองต้องมีอีกมาก เช่น คอมพิวเตอร์-โน๊ตบุ๊ค, แท็บเล็ต, รถยนต์ ฯลฯ

จากคำถามข้อ 2...เทคโนโลยีเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตไหม? ปัจจุบันในเมืองใหญ่ มนุษย์เงินเดือน-ผู้ใช้แรงงาน, คนทำงาน ฯลฯ ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ไปทำงานติดอยู่ในรถ พักเที่ยง ทำงานบ่ายถึงเย็น แล้วเดินทางกลับบ้านติดอยู่บนรถอีก กว่าจะถึงบ้านก็ดึก เป็นซ้ำอย่างนี้ทั้งสัปดาห์ วันหยุดก็แห่กันไปเที่ยวรถก็ติดอีก เพียงแต่ย้ายที่รถติดเท่านั้น  กลับมาเริ่มทำงานสัปดาห์ใหม่ก็เหมือนเดิมอีกคล้ายๆกับถูกโปรแกรมไว้ เหมือนอะไรที่ถูกควบคุมอยู่ นอกจากนี้สภาพแวดล้อม ทั้งน้ำเสีย, อากาศเป็นพิษ, ขยะล้นเมือง ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง อันเนื่องมาจากการอพยพเข้าเมืองใหญ่ๆ พร้อมกับเกิดการสร้างอาคารที่สูงๆ อยู่กันแบบหนาแน่น, การจราจรที่แออัด, ทางด่วนมหึมาทอดยาวมาบดบังแสงแดดเป็นระยะ ทำให้มหานครแห่งนี้ช่างสับสัน  จับต้นชนปลายไม่ถูก จะถือว่าเทคโนโลยีทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปไหม?

จากคำถามข้อ 3 ความเป็นมนุษย์ลดลงหรือไม่?  และหุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์หรือเปล่า? คงเคยได้ยินข่าวประจำวัน จำพวกเกี่ยวกับบ้านเล็กบ้านน้อยที่ว่า “รวมกันเราอยู่ ทิ้งกูมึงตาย” หรือข่าววัยรุ่นกับเรื่องเพศว่า”จิ๋มของหนู จุ๊ดจู๋ของผม” หรือการที่นักเรียนยกพวกตีกันเพราะหัวเข็มขัดไม่เหมือนกัน หรือโจรปล้นมือถือตามสะพานลอย หรือล่าสุด กับข่าวหนูน้อยเอเปค ที่มีสถิติที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ตุลาคม 2545 ถึง พฤษาคม 2546 มีเด็กถูกทอดทิ้งในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท 141 คนเฉลี่ย เดือนละ 20 คน เทียบกับสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนทั่วประเทศ พบว่ามีเด็กวัย 1 ถึง 6 ขวบถูกทิ้ง เฉลี่ยปีละ 500 คน หรือเดือนละ 40 คน  แสดงว่าเฉพาะกรุงเทพฯ ก็ทอดทิ้งเด็กครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศแล้วในแต่ละเดือน          แม้ใน Metropolis มีบทสรุปที่แสดงถึงว่า ความเป็นมนุษย์ถูกทำลายลงด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง  แล้วบทสรุปของมหานครกรุงเทพ-มหานครเมืองใหญ่ต่างๆ จะเป็นแบบไหนต่อไป ในเมื่อความเป็นมนุษย์ถูกบั่นทอน แต่หุ่นยนต์ เช่นไอโบ้ หุ่นยนต์สุนัข หรือ ไอซิโม้ หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ กับเริ่มพัฒนาทางความสามารถเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปเราจะสามารถแยกกันออกหรือเปล่าว่า ใครเป็นมนุษย์?  ใครเป็นหุ่นยนต์?  

จากคำตอบทั้งสามข้อ การควบคุมการผลิตของเทคโนโลยี (หรือควบคุมพฤติกรรมมนุษย์), การทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตของผู้คน แทนที่จะมีเวลาให้กันและกันในครอบครัวกับต้องแยกขนาดเป็นครอบครัวเล็กลงตามสภาพเศรษฐกิจที่โยงไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีอีกที คงเคยได้ยินคำว่า “โดดเด่นในหน้าที่   โดดเดี่ยวในครอบครัว” กัน และการที่เทคโนโลยีสามารถควบคุมสังคมทำให้ความเป็นมนุษย์ลดลง แต่หุ่นยนต์กลับมีส่วนคล้ายมนุษย์มากขึ้นในด้านความสามารถต่างๆ

ดังนั้นภาพยนตร์เรื่อง  Metropolis  ถึงแม้จะสร้างไว้กว่า 77 ปีมาแล้ว  กับมีมุมมองต่อความหวาดระแวงในการมาของหุ่นยนต์ต่างๆ หรือเป็นความหวาดหวั่นกับสิ่งอื่นที่ยังมาไม่ถึง...แต่ตอนนี้เราผู้ยืนอยู่เริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 พอจะมองอนาคตของหุ่นยนต์บวกกับการมาของโลกยุคดิจิตอลในยุคถัดไปเร็วๆนี้ ว่าจะเตรียมรับมือกันอย่างไรกันดี...น่าคิดนะ

 นี่คือ "David" (จาก ภาพยนตร์ Prometheus 2012)...เขาคือ หุ่นยนต์! แอนดรอยด์(ภายนอกเหมือนคนทุกประการ) ที่มนุษยชาติใฝ่ฝันถึง...และมันคงเกิดขึ้นได้จริงอีกไม่นานนักในอนาคต ก็เป็นได้...
- จบ -

* Credit ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากเอกสารแจกในงานเสวนา เรื่อง อิทธิพลของ Metropolis ต่อภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ของ Dr. Hans-Peter Rodenburg เมื่อ 22 ต.ค. 2546 และบทวิจารณ์หลังจากการเข้าชมภาพยนตร์ปิดเทศกาลหนัง World film festival of

Bangkok เรื่อง Metropolis เมื่อ 26 ต.ค. 2546


1 ความคิดเห็น:

  1. เหมาะจะเป็นภาพยนตร์ฉายประจำวันแรงงานแห่งชาติ

    ตอบลบ