วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

Metropolis - หนังไซไฟ ตอนที่ 3 (จบ)


- ชม Metropilis ฉบับเต็ม -



จากคำถามที่ค้างไว้ตอนที่แล้ว ในตอนที่ 2 (Metropolis - หนังไซไฟ" ตอนที่ 2  คลิกที่นี่ )...

...เป็นคำถามที่น่าสนใจถามทิ้งไว้ในยุคนั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่ถึงปี 2063 (ตามเหตุการณ์ในท้องเรื่อง) เหลืออีกหลายปี แต่ก็คงพอมองออกถึงคำตอบทั้งสามข้อได้อย่างเป็นรูปธรรม และแม้ว่าสำหรับ กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่จังหวัดต่างๆของประเทศไทยเรา...จะไม่ใช่เมืองใหญ่ๆในโลก แต่ในสภาพบ้านเมืองที่ทันยุคสมัยของกรุงเทพฯ ทั้งสาธารณูปโภค, การจราจร ,ความหนาแน่นของประชากร, ความเจริญในเมืองต่างๆ พร้อมทั้งคำว่า Bangkok Metropolis ก็อยู่ในความหมายของ กรุงเทพมหานคร หรือ มหานครกรุงเทพ ได้นั้น หรือดั่งคำที่ว่า มองละคร แล้วย้อนดูตัวก็ได้เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สามารถหาคำตอบทั้งสามข้อข้างต้นเทียบกับ Metropolis เป็นกรุงเทพมหานครได้ ดังนี้

จากคำถามข้อ 1 ว่า...จะควบคุมเทคโนโลยีได้หรือไม่? ถ้าลองยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของคนเมือง แต่ทำไมพอมีมือถือรุ่นใหม่กว่า ออฟชั่นแปลกใหม่ ลูกเล่นแพรวพราว แล้วผู้คนยังต้องตามหามาครอบครองทั้งๆที่อันเก่าที่มีอยู่ก็ยังใช้ได้ เป็นการใช้จ่ายเพื่อเปลี่ยนตามเทคโนโลยีไป อย่างนี้ไม่รู้ว่าเราควบคุมเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยีควบคุมเรากันแน่...  ที่ทำให้มนุษย์เราต้องมีพฤติกรรมคอยตามตลอดเวลา นี่ยังไม่นับสิ่งที่กำลังถือว่าคนเมืองต้องมีอีกมาก เช่น คอมพิวเตอร์-โน๊ตบุ๊ค, แท็บเล็ต, รถยนต์ ฯลฯ

จากคำถามข้อ 2...เทคโนโลยีเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตไหม? ปัจจุบันในเมืองใหญ่ มนุษย์เงินเดือน-ผู้ใช้แรงงาน, คนทำงาน ฯลฯ ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ไปทำงานติดอยู่ในรถ พักเที่ยง ทำงานบ่ายถึงเย็น แล้วเดินทางกลับบ้านติดอยู่บนรถอีก กว่าจะถึงบ้านก็ดึก เป็นซ้ำอย่างนี้ทั้งสัปดาห์ วันหยุดก็แห่กันไปเที่ยวรถก็ติดอีก เพียงแต่ย้ายที่รถติดเท่านั้น  กลับมาเริ่มทำงานสัปดาห์ใหม่ก็เหมือนเดิมอีกคล้ายๆกับถูกโปรแกรมไว้ เหมือนอะไรที่ถูกควบคุมอยู่ นอกจากนี้สภาพแวดล้อม ทั้งน้ำเสีย, อากาศเป็นพิษ, ขยะล้นเมือง ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง อันเนื่องมาจากการอพยพเข้าเมืองใหญ่ๆ พร้อมกับเกิดการสร้างอาคารที่สูงๆ อยู่กันแบบหนาแน่น, การจราจรที่แออัด, ทางด่วนมหึมาทอดยาวมาบดบังแสงแดดเป็นระยะ ทำให้มหานครแห่งนี้ช่างสับสัน  จับต้นชนปลายไม่ถูก จะถือว่าเทคโนโลยีทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปไหม?

จากคำถามข้อ 3 ความเป็นมนุษย์ลดลงหรือไม่?  และหุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์หรือเปล่า? คงเคยได้ยินข่าวประจำวัน จำพวกเกี่ยวกับบ้านเล็กบ้านน้อยที่ว่า “รวมกันเราอยู่ ทิ้งกูมึงตาย” หรือข่าววัยรุ่นกับเรื่องเพศว่า”จิ๋มของหนู จุ๊ดจู๋ของผม” หรือการที่นักเรียนยกพวกตีกันเพราะหัวเข็มขัดไม่เหมือนกัน หรือโจรปล้นมือถือตามสะพานลอย หรือล่าสุด กับข่าวหนูน้อยเอเปค ที่มีสถิติที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ตุลาคม 2545 ถึง พฤษาคม 2546 มีเด็กถูกทอดทิ้งในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท 141 คนเฉลี่ย เดือนละ 20 คน เทียบกับสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนทั่วประเทศ พบว่ามีเด็กวัย 1 ถึง 6 ขวบถูกทิ้ง เฉลี่ยปีละ 500 คน หรือเดือนละ 40 คน  แสดงว่าเฉพาะกรุงเทพฯ ก็ทอดทิ้งเด็กครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศแล้วในแต่ละเดือน          แม้ใน Metropolis มีบทสรุปที่แสดงถึงว่า ความเป็นมนุษย์ถูกทำลายลงด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง  แล้วบทสรุปของมหานครกรุงเทพ-มหานครเมืองใหญ่ต่างๆ จะเป็นแบบไหนต่อไป ในเมื่อความเป็นมนุษย์ถูกบั่นทอน แต่หุ่นยนต์ เช่นไอโบ้ หุ่นยนต์สุนัข หรือ ไอซิโม้ หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ กับเริ่มพัฒนาทางความสามารถเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปเราจะสามารถแยกกันออกหรือเปล่าว่า ใครเป็นมนุษย์?  ใครเป็นหุ่นยนต์?  

จากคำตอบทั้งสามข้อ การควบคุมการผลิตของเทคโนโลยี (หรือควบคุมพฤติกรรมมนุษย์), การทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตของผู้คน แทนที่จะมีเวลาให้กันและกันในครอบครัวกับต้องแยกขนาดเป็นครอบครัวเล็กลงตามสภาพเศรษฐกิจที่โยงไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีอีกที คงเคยได้ยินคำว่า “โดดเด่นในหน้าที่   โดดเดี่ยวในครอบครัว” กัน และการที่เทคโนโลยีสามารถควบคุมสังคมทำให้ความเป็นมนุษย์ลดลง แต่หุ่นยนต์กลับมีส่วนคล้ายมนุษย์มากขึ้นในด้านความสามารถต่างๆ

ดังนั้นภาพยนตร์เรื่อง  Metropolis  ถึงแม้จะสร้างไว้กว่า 77 ปีมาแล้ว  กับมีมุมมองต่อความหวาดระแวงในการมาของหุ่นยนต์ต่างๆ หรือเป็นความหวาดหวั่นกับสิ่งอื่นที่ยังมาไม่ถึง...แต่ตอนนี้เราผู้ยืนอยู่เริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 พอจะมองอนาคตของหุ่นยนต์บวกกับการมาของโลกยุคดิจิตอลในยุคถัดไปเร็วๆนี้ ว่าจะเตรียมรับมือกันอย่างไรกันดี...น่าคิดนะ

 นี่คือ "David" (จาก ภาพยนตร์ Prometheus 2012)...เขาคือ หุ่นยนต์! แอนดรอยด์(ภายนอกเหมือนคนทุกประการ) ที่มนุษยชาติใฝ่ฝันถึง...และมันคงเกิดขึ้นได้จริงอีกไม่นานนักในอนาคต ก็เป็นได้...
- จบ -

* Credit ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากเอกสารแจกในงานเสวนา เรื่อง อิทธิพลของ Metropolis ต่อภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ของ Dr. Hans-Peter Rodenburg เมื่อ 22 ต.ค. 2546 และบทวิจารณ์หลังจากการเข้าชมภาพยนตร์ปิดเทศกาลหนัง World film festival of

Bangkok เรื่อง Metropolis เมื่อ 26 ต.ค. 2546


วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

Metropolis - หนังไซไฟ ตอนที่ 2


* Metropolis - หนังไซไฟ ตอนที่ 1  คลิกที่นี่

Metropolis เป็นเรื่องของมหานครตึกระฟ้าในโลกอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านเทคโนโลยี มีทั้งถนนทางด่วนพาดผ่านกลางตัวเมืองหลายชั้น มีรางรถไฟฟ้า และเครื่องบินที่สามารถจอดลงบนหลังคาตึกอาคารสูงๆได้ แต่ก็มีการแบ่งชนชั้นกันของสองกลุ่มระหว่างกลุ่มชนชั้นส่วนใหญ่ที่เป็นทาสทำงานอยู่กับเครื่องจักรกลใต้ดิน กับพวกชนชั้นที่สูงกว่าผู้คอยเสวยสุขกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยมีผู้นำจอมเผด็จการชื่อ  "John Fredersen" ที่กำลังหาทางกำจัดกลุ่มทาสที่รวมตัวกันต่อต้าน และมี  "Maria"  แม่พระคนสวยของเหล่าทาสเป็นผู้นำ

- Metropolis 1926 : สร้างหุ่น "Maria" -

แต่แล้วเรื่องถึงจุดหักเหเมื่อ "Freder" ลูกชายของ John Fredersen  กลับพบรักกับ Maria แล้วไปพบความไม่ยุติธรรมกับคนงานใต้ดินจึงขอร้องให้พ่อจอมเผด็จการของเขาช่วยแก้ไขกรณีนี้ให้...ซึ่งกลับทำให้ John Fredersen  เร่งร่วมมือกับ นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง "Rotwang" สร้างหุ่นยนต์สาวให้เหมือน Maria  แล้วปลอมตัวไปยุยงคนงานใต้ดินให้ก่อความรุนแรงวุ่นวายขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการกำจัดชนชั้นแรงงานทาสให้สิ้นซากต่อไป แต่ท้ายสุดหนังจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจกัน พร้อมฝากข้อคิดว่า “หัวใจ คือ ตัวกลางระหว่างสมองและแรงงาน”  และภาพยนตร์ยังแฝงถึงความหวาดหวั่นต่อการมาของหุ่นยนต์ หรือผลของเทคโนโลยีต่อชีวิตมนุษย์ด้วย

แม้เนื้อเรื่องจะออกดูคล้ายนวนิยายเก่าๆของค่ายหนังดังหลายค่ายนิยมสร้างออกมาให้ดูกัน ประมาณเรื่องของชายผู้สูงศักดิ์หลงรักหญิงผู้ยากไร้ มีอุปสรรคมาขวางกั้น แต่ก็กลับจบแบบสุดแฮปปี้ แต่สิ่งที่ทำให้ Metropolis ถูกเล่าขานไม่รู้จบ คือ ฉากของเมืองในอนาคต ที่อยู่ในอุดมคติอัดสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของอนาคต

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ผู้แสดงประกอบถึง 36,000 คน ความโดดเด่นในฉากเมืองนี้ทำให้เกิดการจัดแสงแบบ Dark city (คือเมืองโทนมืดแฝงไปด้วยภัยพิบัติ) ทำนอง ฉากเมืองแห่งอนาคตในภาพยนตร์ Blade Runner (1982) และ จุดเด่นของการปรากฎตัวของหุ่นยนต์สาว ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มาก การเคลื่อนไหวที่คล้ายผู้คนทำให้เป็นต้นแบบให้กับหนังหุ่นยนต์ในยุคหลัง  เช่น หุ่นยนต์ C3-PO, ใน Star wars (1977) และล่าสุดก็มี หุ่นยนต์สาว T-X ใน Terminator 3 : Rise of the machines นับได้ว่าการสร้างหุ่นยนต์  และฉากบ้านเมืองในอนาคตของ Metropolis นี้  ได้กลายเป็นตำนานเป็นแบบอย่างที่สำคัญหนังไซไฟยุคต่อๆมาเลยทีเดียว

คำ Metropolis แปลว่า มหานคร หนังออกฉายในปี 1926 เป็นช่วงหลังการแพ้สงครามโลกของเยอรมัน  พร้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ บรรดาศิลปินจึงแสดงผลงานในรูปต่างๆ ซึ่งมีผลต่อหนังอันถือเป็นจุดยืนในการแสดงออกทางการเมือง โดยได้ตั้งคำถามที่ท้าทายสำหรับยุคสมัยนั้น(และยังคงเป็นคำถามมาถึงยุคปัจจุบัน) ไว้สามข้อคือ...

1. เราจะไว้ใจว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะสามารถควบคุมผลผลิตทางเทคโนโลยีของมันเองได้อย่างไร?
2. เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิตอย่างไร?

3. เทคโนโลยีจะเข้ามาควบคุมสังคมในขณะที่ความเป็นมนุษย์จะลดลงเรื่อยๆหรือไม่?  หุ่นยนตร์จะมีศักยภาพถึงขึ้นมาแทนมนุษย์ได้หรือไม่?...


"Metropolis - หนังไซไฟ" ตอนต่อไป ตอนที่ 3 (จบ)  คลิกที่นี่ 

* Credit ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากเอกสารแจกในงานเสวนา เรื่อง อิทธิพลของ Metropolis ต่อภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ของ Dr. Hans-Peter Rodenburg เมื่อ 22 ต.ค. 2546 และบทวิจารณ์หลังจากการเข้าชมภาพยนตร์ปิดเทศกาลหนัง World film festival of
Bangkok เรื่อง Metropolis เมื่อ 26 ต.ค. 2546

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

Metropolis - หนังไซไฟ ตอนที่ 1


* จะเห็นว่าตอนนี้ Blog มี Link แนะนำด้านข้าง เป็นเว็บมหากาพย์หนังSci-fi ยอดนิยมถึง 5 เว็บ! แล้วด้วยกัน...แต่ละเรื่องคงจะเป็นที่รู้จัก-คุ้นๆกันดี และแต่ละเรื่องก็เป็นหนังไซไฟในตำนานที่ยังคงล้ำสมัย -ล้ำจินตนาการ ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึง บวกให้แรงบันดาลใจกับผู้คนทั่วโลกจนถึงทุกวัน...ก็ลองเข้าไปเยี่ยมชมกันนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง :)...

...
ส่วนตัวรู้สึกว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยี-นวัตกรรม(โดยเฉพาะ IT)ใหม่ๆ รวมไปถึงกระแสหุ่นยนต์-จักรกล ทำนองหนังไซไฟ เริ่มจะเข้ามามีบทบาท(จนถึงคุกคาม!)กับชีวิตจริงประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้น ทุกที ทุกที! แล้วซินะ...โลกอาจพลิกโฉมในไม่ช้านี้ก็เป็นได้!...

...พูดถึงหนังไซไฟ แล้วจึงอยากจัดข้อมูลดีๆมาลง Blog อันเกี่ยวกับหนังประเภทนี้กันซะหน่อย โดยจะเน้นหนังระดับต้นตระกูลไซไฟในตำนานอย่าง "Metropolis" เป็นพิเศษ ถึงแม้จะเป็นหนังเก่ากึ๊กรุ่นปู่ แต่มันไม่ธรรมดาเลย!...


คำว่า ภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction Movies) หรือ หนังไซไฟ ( Sci-fi)  ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923  โดยหนังมีลักษณะเด่นที่สามารถสังเกตได้จากองค์ประกอบหลายอย่าง  คือ ลักษณะของตัวละคร เป็นมนุษย์ในอวกาศ, ฉากเหตุการณ์เป็นช่วงเวลาในอนาคต, สถานที่ในอวกาศ, แบบแผนโครงเรื่องมักขับไล่สัตว์ร้าย, แก่นเรื่องเป็นชัยชนะของมนุษยชาติ  และอื่นๆ เช่น มีชุดพร้อมเทคโนโลยี, ปืนมีลำแสง, ยานอวกาศ ฯลฯ

ทุกวันนี้เราจะเห็นหนังไซไฟในหลากหลายรูปแบบ   โดยมักจะไปรวมกับหนังแนวอื่นด้วย ทั้งแฟนตาซี (E.T. The Extra-Terrestrial ,1982), สยองขวัญ (Aliens, 1986), ผจญภัย(Back to the Future ,1985) และอื่นๆอีกมากมาย     แต่ถ้าเราย้อนกลับไปหารากเหง้า หรือต้นกำเนิดตระกูลของหนังประเภทนี้ ในแต่ละยุคสมัยแล้ว จะเห็นหนังไซไฟที่หลากหลาย ดังนี้

ปัจจุบันกับ ยุค Cyberspace-Social Network และความหลากหลาย เช่น The Matrix (1999), Jurassic Park (1993) , Terminator (2009) , Trenasformers (2011) , Battleship (2012) Prometheus (2012) ฯลฯ

ยุค 80’s กับการมาของหุ่นยนต์ เช่น Blade Runner (1982), Robocop (1987) ฯลฯ

ยุค 70’s กับ Star war (1977) และ Star Trek: The Motion Picture (1979) ฯลฯ

ยุค 60’s กับการสำรวจอวกาศ เช่น 2001: A Space Odyssey (1968), The Time Machine (1960) ฯลฯ

ยุค 50’s กับการบุกรุกของสงครามเย็นในรูปของมนุษย์ต่างดาว เช่น  Invasion U.S.A.(1952) ฯลฯ

ยุค 1935-1949 กับ Flash Gordon ที่มาจากการ์ตูนวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ยุค 1920-1934  กับยุคหลากหลาย ทั้ง สังคมที่ไม่พึงปรารถนา (Dystopia) เช่น Metropolis (1926), เทพนิยายในอนาคต (Space Opera) เช่น นิยายเรื่อง Skylark of space (1928 ) และหนังไซไฟสยองขวัญ เช่น Frankenstein (1931) ฉบับมูฟวี่ ฯลฯ

และ ยุค 1800-1919 กับการเริ่มต้นจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Frankenstein  และภาพยนตร์เงียบของการเดินทางไปดวงจันทร์ยาว 14 นาที เรื่อง A Trip to the Moon (1902) ฯลฯ

ในบรรดาหนังที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของหนังไซไฟที่ดีที่สุดตลอดกาล  จนถึงทุกวันนี้คือ ภาพยนตร์เรื่อง 2001 : A Space Odyssey (1968)  ของ "Stanley Kubrick"  ที่บอกเล่าเรื่องราวของโลกในอนาคตตามความเชื่อของผู้สร้างและนักวิทยาศาสตร์สมัยนั้น ที่ได้คาดการล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2001 ได้ใกล้เคียงอย่างน่าประหลาดใจ     และถ้าย้อนไปก่อน 2001 : A Space Odyssey ก็ยังมี ภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์คลาสสิกที่ดีสุดสมัยภาพยนตร์เงียบขาว-ดำ นั้นคือเรื่อง Metropolis (1926) หนังเชื้อสายเยอรมันของผู้กำกับชาวออสเตรีย "Fritz Long"  ที่สร้างฉากหลังเป็นเหตุการณ์ในปี 2063 ของอนาคตได้อย่างน่าทึ่ง...

"Metropolis - หนังไซไฟ" ตอนที่ 2 ต่อ  คลิกที่นี่ 

* Credit ขอขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากเอกสารแจกในงานเสวนา เรื่อง อิทธิพลของ Metropolis  ต่อภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ ของ Dr. Hans-Peter Rodenburg เมื่อ 22 ต.ค. 2546 และบทวิจารณ์หลังจากการเข้าชมภาพยนตร์ปิดเทศกาลหนัง World film festival of

Bangkok   เรื่อง Metropolis  เมื่อ 26 ต.ค. 2546