วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เสื่อผืนหมอนใบ ใกล้สูญพันธุ์ - American Dream is over ?


" เสื่อผืนหมอนใบ "

บทความดีๆ จาก www.winbookclub.com
(เว็บสุดยอดแรงบันดาลใจ-มุมมองดีๆ ที่คนไทย-เยาวชนไทยควรเข้าชมศึกษา)
โดย วินทร์ เลียววาริณ


เทียม โชควัฒนา เกิดเมื่อปี 2459 ในครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องมาก ทุกคนต้องช่วยกันทำงาน เมื่ออายุสิบห้าปี ฐานะทางบ้านไม่ดี จึงต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยทางบ้านค้าขาย ทำงานทุกอย่างด้วยความอดทน เริ่มจากระดับล่างสุด เป็นตั้งแต่เด็กรับใช้ กรรมกรยกของหนัก แบกน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัม ไปจนถึงขายสินค้า

แม้จะออกจากโรงเรียนแล้ว เขาก็ยังหาโอกาสศึกษาหาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลา เรียนหนังสือภาคค่ำ และศึกษาเรื่องธุรกิจจากคนรอบตัวที่มีประสบการณ์แบบครูพักลักจำ สิ่งหนึ่งที่เทียมเรียนรู้จากพ่อคือการรักษาสัจจะ รับปากอะไรใครแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ดังคำพูด นอกจากนี้ยังไม่ผิดนัดเป็นอันขาด ในทางธุรกิจสองสิ่งนี้เป็นเครดิตที่ดีที่สุด

ปรัชญาของเขาคือ ทำงานหนัก เขาถามตัวเองเสมอว่า “วันนี้เราทำงานเต็มที่แล้วหรือไม่?” ด้วยสองมือเปล่า เขาสร้างตัวเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย


ชิน โสภณพนิช
เกิดเมื่อปี 2453 เริ่มต้นชีวิตทำงานเป็นลูกจ้างเรือโยงบรรทุกสินค้าเกษตร ล่องระหว่างกรุงเทพ - อยุธยา เป็นเสมียนของโรงไม้แห่งหนึ่ง เมื่อโรงไม้ไฟไหม้ปิดกิจการ ก็เปลี่ยนสายงาน ไปทำกิจการการเดินเรือในเมืองจีน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาไม่ยอมแพ้ ลองทำธุรกิจอื่นๆ ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในวงการค้าขายวัสดุก่อสร้าง แล้วแตกหน่อเป็นธุรกิจอื่นๆ เช่น การก่อสร้าง ค้าทองคำ ค้าข้าว ธุรกิจห้างสรรพสินค้า และธนาคาร

ปรัชญาของเขาคือ ทำงานหนัก ไม่ยอมแพ้ ล้มแล้วลุกขึ้นมาเสมอ ด้วยสองมือเปล่า เขาสลัดพ้นความยากจนเป็นผู้มีฐานะดีที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย


นี่เป็นเพียงสองตัวอย่างในจำนวนคนจำนวนมากที่สร้างตัวจากศูนย์ จากเสื่อผืนหมอนใบจนลืมตาอ้าปากได้ บางคนก็ไปไกลถึงขั้นมหาเศรษฐี โดยมีความขยันเป็นยาบำรุง ความอดทนเป็นวิตามินชีวิต

คนรุ่นก่อนคุ้นกับวลี ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ เป็นอย่างดี หมายถึงคนที่ตั้งตัวจากศูนย์ ไต่เต้าขึ้นมาจนมีฐานะดีหรืออย่างน้อยก็ข้ามพ้นความยากจน ตัวอย่างส่วนมากเป็นคนจีนที่อพยพมาหาโอกาสใหม่ในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยสารเรือสำเภาจากท่าเรือในมณฑลกวางตุ้ง ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเมืองไทย สองมือกับเสื่อหนึ่งผืน หมอนหนึ่งใบ เป็นที่มาของสำนวนนี้

ปรัชญา ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ อาจจะเชยไปแล้วในสายตาคนรุ่นใหม่ที่สามารถรวยพันล้านในเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ไม่ต้องแบกของหนัก ไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ใช้สมองและการหาจังหวะอย่างเดียวก็พอ สามารถ ‘เออร์ลี รีไทร์’ ตั้งแต่อายุยังน้อยถือเป็นสุดยอด

แน่ละ การใช้สมองและการหาจังหวะในธุรกิจมิใช่เรื่องผิดหรือน่าดูหมิ่น ธุรกิจก็คือการรู้จักมองหาโอกาสอยู่แล้ว และมันก็เป็นเพียงอีกหนทางหนึ่งในการสร้างตัว ในเมื่อมีฝีมือและวิสัยทัศน์ที่สามารถมองหาช่องว่างของโอกาส และทำเงินได้มากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

อย่างไรก็ตาม ภาพความสำเร็จโดยการรวยลัดรวยง่ายรวยเร็วอาจปูทางให้เกิดบรรทัดฐานและค่านิยมใหม่ของการทำงานที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าการประสบความสำเร็จคือ ‘ความเร็ว’ และ ‘ปริมาณ’ มันยังมีส่วนเสริมค่านิยม ‘เท่าไรก็ไม่พอเพียง’ ปรัชญา ‘ลัด-ง่าย-เร็ว’ นี้เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่คนสวมสูทบนหอคอยงาช้างลามไปถึงคนเดินดินข้างล่าง

ภาพคนเรียนจบสูงๆ ใช้เวลาในตลาดหุ้นแทนที่จะทำงานในวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา หรือคนขับแท็กซี่จอดรถรอล่าผู้โดยสารต่างชาติเพื่อฟันราคาค่าโดยสารแบบปิดประตูตีแมว บอกเราว่านี่เป็นโลกใหม่ที่คนรุ่น ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ใกล้สูญพันธุ์หรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

คนทำงานหนักเพราะไม่มีทางเลือก ไม่ใช่เพราะเชื่อปรัชญาการทำงานแบบนี้ ขณะที่ความสามารถและโอกาส ‘ลัด-ง่าย-เร็ว’ มิได้เกิดขึ้นกับทุกคน ปรัชญา ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ กลับเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้การได้เสมอกับทุกคนทุกเวลา หากไม่กลัวความลำบากเสียอย่าง อุปสรรคก็เป็นแค่ความขรุขระเล็กน้อยของเส้นทางท่อนหนึ่งของชีวิต

‘เสื่อผืนหมอนใบ’ มิได้แปลว่าทุกคนต้องแบกของหนัก แต่หมายถึงให้เป็นคนที่หนักเอาเบาสู้ ไม่เหยาะแหยะ ไม่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ และที่สำคัญที่สุดคือไม่เอาเปรียบสังคมโดย ‘แซงคิว’ หรือเล่นนอกกติกาเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน ทำให้สังคมวิบัติในระยะยาว

คนที่คิดแบบ ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ อาจจะก้าวถึงจุดหมายช้าไปบ้าง แต่มันมั่นคงกว่า และมีศักดิ์ศรีกว่า เพราะเงินทุกบาทแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ การทำงานไปทีละขั้นก็มีประโยชน์ของมัน มันหล่อหลอมจิตวิญญาณของคนคนหนึ่งให้ไม่กลัวล้ม ไม่กลัวความลำบาก คุณสมบัติที่ปรัชญารวยทางลัดไม่สามารถให้ได้

วัฒนธรรมอเมริกามีวลีหนึ่งว่า "American dream" หมายความว่า ทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน ผู้ที่รวยมหาศาลจากการทำงานหนักเป็นคนที่สังคมนับถือ ไม่มีใครอิจฉาริษยาคนทำงานหนักแล้วรวย เพราะเป็นสถานะที่เขาคนนั้นสมควรได้รับ สมควรได้รับการยกย่อง ตรงกันข้าม ผู้คนมักดูหมิ่นผู้ที่ร่ำรวยเพราะสืบทอดมรดกมา เพราะดวงดี ไม่ใช่ฝีมือดี


เพราะชีวิตคนเรามิได้มีค่าที่เงินในกระเป๋า มันยังมีคุณค่าอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และศักดิ์ศรีของมนุษย์มาจากพฤติปฏิบัติที่เห็นความสำคัญของวิธีการเดินมากกว่าจุดหมายปลายทาง

ลูกจ้างจำนวนมากในโลกทำงานตามที่เขาหรือเธอคิดว่าเหมาะสมกับเงินเดือนที่ได้รับ ไม่ยอมทำงานมากไปเป็นอันขาด เพราะ “มันไม่แฟร์” คนไม่น้อยไม่กระดิกตัวหากเข็มนาฬิกายังไม่ชี้ที่เวลาทำงาน ประหนึ่งถือฤกษ์เอาชัย

ลองมองอีกมุมหนึ่ง การทำงานมากทำให้มีประสบการณ์และทักษะมาก มันติดตัวเราไปตลอดชีวิต

ในมุมมองของปรัชญา ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ทุกคนมีสิทธิ์ร่ำรวยเท่าเทียมกัน แต่หากอยากไปถึงวันนั้น ถามตัวเองเสมอว่า “วันนี้เราทำงานเต็มที่แล้วหรือไม่?”

วินทร์ เลียววาริณ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น