วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

สถาปนา หุ่นยนต์ !

ฉากตอนกำลังพัฒนา "หุ่นยนต์" ในภาพยนตร์เรื่อง "Bicentennial Man"

ปี 1921 นักประพันธ์ชาวเชคโกสโลวาเกีย "Karel Capek" ได้เขียนบทละครเชิงสะท้อนชีวิตในสังคมอุตสาหกรรมในยุคนั้น เรื่อง R.U.R. หรือ Rossum's Universal Robots โดยมีคำว่า "Robot" หรือ "Robota" ซึ่งภาษาเชคแปลว่า "tedios labor" หรือ "forced labor" อันหมายถึง ผู้ถูกบังคับให้ทำงาน หรือ ทาส! นั้นเอง... Robot ในเรื่องของ Capek ก็คือสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะเป็นมนุษย์เทียม มีแขน มีขา สามารถทำงานได้มากกว่ามนุษย์ธรรมดา 2 เท่า มีพลังมากกว่ามนุษย์ 2 เท่า จุดประสงค์หลักในการสร้าง Robot ก็เพื่อรับใช้มนุษย์นั้นเอง เพราะเหตุที่งานบางงานเป็นงานที่หนักเกินพละกำลังมนุษย์ บางงานเป็นงานที่ซ้ำๆซากๆจำเจน่าเบื่อ และมีอีกหลายงานที่ต้องอาศัยความประณีตแม่นยำสูง แถมบางงานยังมีอันตรายต้องเสี่ยงชีวิต...Robot จึงเป็น ทาส! ในฝันที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด!! ที่น่าคิดคือ หากหุ่นยนต์ทำงานต่างๆแทนมนุษย์ได้เกือบทั้งหมดแล้ว มนุษย์จะเอาเวลาที่มีเหลือเพิ่มขึ้นนั้นไปทำอะไรต่อดี...(ในหนัง การ์ตูนอนิเมชั่น เรื่อง "Wall-E" จะเห็นวิถีชีวิตมนุษย์ในยุคที่หุ่นยนต์ทำอะไรแทนไปเสียทุกเรื่องแม้แต่กิจกรรมง่ายๆอย่างอาบน้ำ, แต่งตัว, แปรงฟัน!)

ปัจจุบันมนุษย์มอง "หุ่นยนต์" (ทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกแห่งจินตนาการ) ก้าวล้ำเกินกว่าแค่การเป็น "ทาส" หุ่นยนต์เป็นอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง อย่างที่มนุษย์คาดไม่ถึง เป็นเพื่อน, เป็นอาจารย์, เป็นดารา, เป็นฮีโร่พิทักษ์โลก, แม้แต่เป็นสามี!(ในหนัง Bicentennial Man) หรือมองในแง่ร้ายในอนาคต หุ่นยนต์ อาจครอบครองโลกเป็นนายเหนือหัวปกครองมวลมนุษย์!!

หุ่นยนต์ครองโลกและใช้ร่างกายมนุษย์เป็นแหล่งพลังงานตั้งแต่ยังเป็นทารก ในหนัง The Matrix

เท่าที่สังเกต หุ่นยนต์มีประมาณ 6 ประเภท (หากมีมากกว่านี้ช่วยบอกด้วยนะครับ).

1. Robot : หุ่นยนต์พื้นฐานที่คุ้นเคยกันดีที่สุด นั้นคือหุ่นที่มีกลไกสามารถแสดงอากัปกริยาคล้ายคนหรือสัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ่น "Asimo" หรือเจ้าหมา "Aibo" หุ่นยนต์ทั่วๆไปในหนังการ์ตูน ภาพยนตร์ และของเล่นไฮเทคต่างๆ (จริงๆแล้ว สิ่งประดิษฐ์พวกเครื่องจักรกล, อุปกรณ์, พาหนะ, เทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ ที่เราใช้งานกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งที่ใช้ในบ้าน ในองค์กรออฟฟิต หรือโรงงาน ก็จัดเป็น "Robot" ชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่เรามักคุ้นกับคำ "Robot" ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์อันมีรูปร่างมีแขนขาหรือมีพฤติกรรมการแสดงออกคล้ายคน-สัตว์ มากกว่า)

2. Cyborg : ครึ่งคนครี่งหุ่นยนต์ บางทีก็เรียกกันว่า..."มนุษย์ไซบอร์ก" นั้นคือร่างกายเป็นคนธรรมชาติแต่มีส่วนผสมกับประดิษฐกรรมจักรกล-ดิจิตอล ฯลฯ ทำงานร่วมกันในร่างเดียว "ไซบอร์ก"ไม่ได้อยู่แค่จินตนาการอีกต่อไป เพราะในโลกแห่งความจริงได้ ได้มี "ไซบอร์ก" เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว...อาทิ แค่คุณมี ไตเทียม, แขนขาแบบมีกลไกพิเศษ ก็จัดว่า "Cyborg" ได้แล้วนะ! (จะเข้มข้นมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมี กลไกประดิษฐ์ในร่างกายมากน้อยแค่ไหน) อย่าง "Darth Vader" ของเราในมหากาพย์ Starwars จัดว่าเป็น Cyborg เต็มขั้น หรือในหนังการ์ตูนเรื่อง Cobra ที่พระเอกมีแขนเป็น ปืน ก็เรียกว่า ไซบอร์ก ได้เช่นกัน สุดยอดการ์ตูนเอเชีย DragonBall Z ก็มีมนุษย์ไซบอร์ก อย่าง ฟรีซเซอร์ร่างCyborg, ดร.เกโร่, หมายเลย 13 ,14 เป็นต้น .; )

นี้คือมนุษย์ "ไซบอร์ก" ของจริงไม่ได้อิงนิยาย

3. Android : หุ่นยนต์ที่ภายนอกเหมือนมนุษย์ทุกประการ เมื่ออยู่ร่วมปะปนกันกับคนแล้ว ไม่สามารถแยกแยะออกได้เลยว่า อันไหนเป็นคน(รวมทั้ง Android ที่เป็นสัตว์ด้วย)อันไหนหุ่นยนต์กันแน่!...สามารถสื่อสารพูดคุยตอบโต้ แสดงแสดงอาการต่างๆได้เหมือนมนุษย์ทุกประการ แต่ติดที่ว่าเป็นเพียงหุ่นยนต์ไม่มีชีวิตจิตวิญญาณ "Android" นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่มนุษยชาติใฝ่ฝันถึง!... "Android" ปรากฏอยู่ในนวนิยายและภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ Alien, Blade Runner, Bicentennial Man, Terminator, และ A.i. เป็นต้น

Android สาวใช้ จากภาพยนตร์ A.i.

4. หุ่นยนต์ที่ มีคนอยู่ข้างใน : อาจเป็นลักษณะหุ่นยนต์ตัวใหญ่ต้องมีคนเข้าไปบังคับข้างในถึงจะทำงานได้ อาทิ "Gundam" หรือ เป็นลักษณะคนสวมเกราะทั้งร่างกลายเป็นหุ่นยนต์ชนิดพิเศษอย่าง "iron Man"

iron Man

Gundam

5. หุ่นยนต์ที่มีวิญญาณ
(ไม่น่าจะเรียกว่าหุ่นยนต์?) ก็คือร่างภายนอกมีลักษณะเป็นหุ่นยนต์ประกอบด้วยแขนขาอันเป็นวัสดุต่างๆ เหล็ก พลาสติก ฟันเฟือง กลไกดิจิตอล ฯลฯเยี่ยงหุ่นยนต์ แต่กลับมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ มีปัญญา มีจิดวิญญาณ และไม่ได้ถูกโปรแกรมหรือสร้างขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดในร่างของหุ่นยนต์ หุ่นประเภทนี้เห็นได้ชัดในหนังเรื่อง Transformers จริงๆแล้วไม่สมควรเรียกว่า"หุ่นยนต๋"เลยนะ แต่ทำไงได้ ก็รูปร่างหน้าตามันเหมือน...

สิ่งมีชีวิตจากดาวCybertron มาเยือนโลกในคราบหุ่นยนต์ : Transformers

6. ไม่รู้จะเรียกชื่อยังไงดี!!...เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีรูปร่างที่เลียนแบบมนุษย์หรือสัตว์เลย เป็นกลไกนามธรรมมาก อาจจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ กระแสไฟฟ้า หรือปัญญาประดิษฐ์อะไรซักอย่าง(ที่ไม่ใช่ วิญญาณหรือจิตใจ แต่เป็นสิ่งกลไกทางวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น) สามารถตอบโต้พูดคุยกับมนุษย์ได้ ถึงแม้จะถูกความคุมการทำงานโดยการสั่งการของมนุษย์ แต่ก็สามารถตัดสินใจที่จะริเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองได้โดยผ่านระบบที่ตัวมันเองเชื่อมโยงอยู่ หุ่นยนต์ชนิดนี้เท่าที่เห็นมีปรากฎใน นวนิยายและภาพยนตร์ เรื่อง "2001 A Space Odyssey " ประพันธ์โดยสุดยอดปรมาจารย์วงการนิยายวิทยาศาสตร์ นาม "Arthur C. Clarke" ประมาณว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของยานทั้งลำ มีชื่อเรียกในเรื่องว่า Mr."HAL 9000" นักบินอวกาศจะติดต่อกับเจ้า HAL 9000 อย่างเป็นทางการ โดยผ่านการพูด สนทนา เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือสั่งการใดๆที่บริเวณดวงไฟสีแดงภายในยาน ซึ่งดวงไฟสีแดงนี้เป็นทั้งตา หู และปากของ HAL 9000 !! แต่ถ้าดูในหนัง จะพบว่า นักบินอวกาศสามารถติดสื่อสารกับ HAL 9000 ที่ไหนก็ได้ทั้งภายในยานหรือแม้แต่ภายนอกยาน ที่สุดยอดกว่านั้นคือ ตอนที่ นักบินอวกาศจะปิดการทำงาน HAL 9000 เนื่องจาก HAL ผิดพลาดร้ายแรง!.... HAL พูด(ผ่านลำโพงในยาน)ว่า "ผมกลัว อย่าปิดนะ เราเจรจากันได้" {พิลึกกึกกือจริงๆ ถ้าไม่เคยดู ลองหาหนังมาดูนะครับ "2001 A Space Odyssey (หนังเก่าปี 1968 แต่คลาสิคตลอดกาล)" }

เจ้า HAL 9000 ใน "2001 A Space Odyssey "

เมื่อพูดถึงเรื่อง หุ่นยนต์แล้วก็ต้องอ้างถึง กฎคลาสสิค 3 ข้อของหุ่นยนต์ (Three Laws of Robotics) ที่สุดยอดปรมาจารย์นิยายวิทยาศาสตร์อีกท่าน "ไอแซก อาซิมอฟ" (Isaac Asimov) ได้บัญญัติไว้ ในนวนิยายของเขา ในชุด The Foundation, i Robot และ Bicentennail Man ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าใครเคยดู ภาพยนตร์ i Robot น่าจะจำกันได้ดี กฏ 3 ข้อนี้ถูกกล่าวขึ้น ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องเลย

isaac Asimov

กฏข้อ 1.
หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้(A robot may not harm a human being, or, through inaction, allow a human being to come to harm.)

กฏข้อ 2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก(A robot must obey the orders given to it by human beings, except where such orders would conflict with the First Law.)

กฏข้อ 3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง(A robot must protect its own existence, as long as such protection does not conflict with the First or Second Law.)

ต่อมาในนิยายภาคหลังๆเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ในวงกว้างและลึกมากขึ้นไปอีก จึงได้มีการเพิ่ม กฎข้อ 0 ลงไป คือ...

กฏข้อ 0. หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อมนุษยชาติ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายได้(A robot may not injure humanity, or, through inaction, allow humanity to come to harm.)โดยการกระทำตามกฎข้อ 1, 2 และ 3 จะต้องไม่ขัดกับกฎข้อ 0 นี้...สิ่งที่เพิ่มเติมจากกฏ 3 ข้อเดิมก็แค่คำ "Humanity" มนุษยชาติ-เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวล

นวัตกรรมหุ่นยนต์ ภาพยนตร์ i Robot

สำหรับกฏทั้ง 3+1 ข้อนี้ จะเห็นว่า หุ่นยนต์มิอาจทำร้ายมนุษย์ได้เลย เพราะเงื่อนไขระหว่างกฎข้อต่างๆได้บล๊อคหุ่นยนต์ในการทำอันตรายต่อมนุษย์ไว้หมดแล้ว และในกรณีของการดูแลปกป้องมนุษย์ให้พ้นอันตรายหากเป็นเหตุการณ์ทั่วๆไปหุ่นยนต์ก็คงปฎิบัติงานได้ง่ายดายไม่มีปัญหา...แต่ถ้าเกิดเหตุกรณีมนุษย์ทำร้ายมนุษย์กันเองจะด้วยเหตุอันใดก็ตามที อาจจะเป็นโจรมาปล้น ฆ่าข่มขืน ทะเลาะวิวาท หรือ สงคราม! ฯลฯ ยังสงสัยอยู่ว่ากรณีนี้หุ่นยนต์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะทำอย่างไร? มนุษย์ที่กำลังต่อสู้ป้องกันตัว-ทำร้ายกันแต่ละฝ่ายอาจสั่งให้หุ่นยนต์ของตนทำการปกป้องหรือต่อสู้เพื่อตน โดยสั่งให้หุ่นยนต์ไปกำจัดหรือทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ! หุ่นยนต์คงได้แต่นิ่งด้วยความสับสนมึนงง! เครื่องแฮงค์ไปเลย...เพราะ

- ถ้าหุ่นยนต์ช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะเกิดการขัดแย้งผิดกฎ ตีกันไปๆมาๆระหว่างกฏ 1.และ2., 2.และ1. รวมทั้งกฎข้ออื่นๆ(ลองย้อนไปพิจารณาดู) นั้นคือ ถ้าเชื่อฟังมนุษย์อันเป็นเจ้าของตน ก็มีโอกาสที่จะทำร้ายหรือทำให้มนุษย์อีกฝ่ายได้รับอันตรายบาดเจ็บได้

- กรณีถ้าไม่ช่วย ก็จะขัดแย้งผิดกฏข้อ 2., 1. และกฎที่เหลือเหมือนเดิม เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งมนุษย์และปล่อยให้อยู่มนุษย์อยู่ในอันตราย จะมีทางออกใดบ้างให้หุ่นยนต์?

และข้อสังเกตอีกอย่าง ในกรณี กฎข้อที่ 3. หากมนุษย์พาลจะกลั่นแกล้ง-ทุบตีทำร้ายหุ่นยนต์โดยตรง สมมุติหุ่น Android เพศเมีย มนุษย์วิปริตบางคนอาจเกิดทะลึ่งจะลวนลาม-ข่มขืน! (คิดไปนั้น) หุ่นยนต์จะทำยังไง? จะต่อสู้-ตอบโต้ให้เจ็บตัวก็ไม่ได้ เพราะ กฎ ทุกข้อ ได้บล็อกการตอบโต้มนุษย์ไว้เสียขนาดนั้น เห็นทีคงต้องหนีเอาตัวรอดท่าเดียว หรือถ้าหนีไม่ทันก็ต้องนิ่งเลยตามเลย (แต่ในหนัง อย่าง "i robot" หุ่นยนต์ก็หายึดกฎเคร่งครัดไม่ เนื่องจากเห็นว่ามนุษยชาติเชื่อถือไม่ได้ แหลวแหลกเกินเยียวยา จึงทำการกบฏ! ยึดอำนาจ ปกครองมนุษย์เสียเลย!)

หน้าปก นวนิยายวิทยาศาสตร์ สถาบันสถาปนา (ฉบับภาษาไทย) เล่ม 1

กฏของหุ่นยนต์ 3ข้อ และกฏข้อ 0 นี้เอง ในนิวนิยายวิทยาศาสตร์ชุด สถาบันสถาปนา (The Foundation) ภาคหลังๆของ อาซิมอฟ ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญส่งผลให้ หุ่นยนต์ เกิดการแตกแยกแบ่งข้างเป็น 2 พวก คือพวกหนึ่งยึดถือกฏ 3 ข้อ อีกพวก ยึดข้อเดียวคือข้อ 0 เรืยกว่าเป็นการแบ่งนิกายศาสนาของพวกหุ่นยนต์เลยทีเดียว !

นวนิยายชุด สถาบันสถาปนา นี้จัดว่าเป็นสุดยอดมหากาพย์ ไซ-ไฟ แห่งยุค ด้วยจินตนาการอันบรรเจิดในเรื่องราวของ "หุ่นยนต์" กับความเป็นอยู่ของมนุษย์แห่งโลกอนาคต ผนวกกับการสะท้อนแง่คิดตรรกะ-ความเป็นจริงในสังคมมนุษย์ปัจจุบันในหลายๆด้านอย่างแยบยล ไม่ว่าจะด้านสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, กลยุทธ์, สงคราม, การพาณิชย์, ศิลปะ, ปรัชญา...ฯลฯ หากมีโอกาส-มีเวลา ลองหามาเสพดูนะครับ ยังมี สาระ-บันเทิง ที่แฝงอยู่ในนวนิยายชุดนี้อีกเยอะเลย...รับรองว่าซี๊ดด! :)

.......................................................................

- ภาคผนวก -

หนังสือมหากาพย์ ไซ-ไฟ ชุด "สถาบันสถาปนา" 10 เล่นจบ(หนัก-หนาเอาการ) ฉบับแปลภาษาไทย มีครบแล้ว โดยสำนักพิมพ์ ProVision ถ้าหาซื้อในตลาดไม่ได้ สามารถโทรไปสั่งซื้อได้ทาง webได้ เขามีบริการจัดส่งให้ถึงบ้าน คลิก >> http://www2.provision.co.th/index.php?option=com_virtuemart&page=shop.browse&category_id=15&Itemid=31

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

"จงหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ" Steve Jobs

"You've got to find what you love"

สุนทรพจน์ของ Steve Jobs CEO แห่งบริษัท Apple (เจ้าผลิตภัณฑ์เท่ห์ๆล้ำๆอย่าง ของ iPod, iPhone, Mac, ฯลฯ)แสดงในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2005 สุนทรพจน์เรียบง่ายพื้นๆ 3 บทในวันนั้น ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้แก่บัณฑิตจบใหม่ ยังได้สร้างแรงบันดาลใจและกล่าวขวัญไปทั่วโลกจนถึงวันนี้ ส่วนตัวมองว่า สุนทรพจน์ชุดนี้เป็นสุนทรพจน์คลาสสิคชุดหนึ่งที่ควรเผยแพร่ให้ปวงชน(ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ใช้ผลิตภัฑณ์ของ Apple นะ ฮึๆๆ)ได้ลิ้มรสและซึมซาบ โดยฉพาะ เยาวชนไทย...(แต่อย่าด่วนตัดสินใจ ลาออกเลิกเรียนกลางคันเลียนแบบ Jobs นะ โปรดใช้วิจารณญาน!)
ด้วยเนื้อหาเชิงปรุงเร้าให้มีหัวใจต่อสู้ไม่ท้อแท้ ยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่น้อยใจในโชคชะตา ใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์มีคุณค่า ยึดมั่นในจุดยืนของตัวตน เนื้อหาและความลุ่มลึกจัดอยู่ในระดับน้องๆ คัมภีร์ "ภควัทคีตา" ของ ฮินดู เลยทีเดียว!! (เกี่ยวกับ "ภัควัทคีตา" ดูบล็อคเรื่อง รบเถิดอรชุน)

......................................................................


I. บทเรียนบทแรกของ Jobs ซึ่งเขาเรียกมันว่า “การเชื่อมโยงของจุดต่างๆในชีวิต” (Connecting the dots)

เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ตัวเขาเองไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัยเพราะได้ลาออกหลังจากเรียนใน Reed College ได้เพียง 6 เดือน ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยนั้น Jobs กล่าวว่า มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เขายังไม่เกิด

แม่ที่แท้จริงของเขา ซึ่งเป็นนักศึกษาสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานไม่ต้องการเลี้ยงดูเขาและตัดสินใจยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก แต่เธอมีเงื่อนไขว่าพ่อแม่บุญธรรมของลูกของเธอจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย Jobsเกือบจะได้เป็นลูกบุญธรรมของนักกฎหมายที่จบมหาวิทยาลัยและมีฐานะ ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายว่าพวกเขาไม่ต้องการเด็กผู้ชาย กว่า Jobs จะได้พ่อแม่บุญธรรมซึ่งต่อมาเป็นผู้เลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ก็อีกหลายเดือนหลังจากเขาเกิด เนื่องจากแม่ที่แท้จริงของเขาเกิดจับได้ว่า ว่าที่พ่อแม่บุญธรรมของ Jobs ได้ปิดบังระดับการศึกษาที่แท้จริงซึ่งไม่ได้จบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมของJobs ไม่ได้เรียนมัธยมด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเธอก็ได้ยอมเซ็นยก Jobsให้แก่พ่อแม่บุญธรรม เมื่อพวกเขารับปากว่าจะส่งเสียให้ Jobsได้เรียนมหาวิทยาลัย 17 ปีต่อมา Jobs ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสมตามความต้องการของแม่ที่แท้จริง ผู้ไม่เคยเลี้ยงดูเขาแต่กลับต้องการกำหนดชะตาชีวิตของลูกที่ตนเลี้ยงดูเพียง 6 เดือน

ในมหาวิทยาลัย Jobs ใช้เงินเก็บที่พ่อแม่บุญธรรมซึ่งเป็นเพียงชนชั้นแรงงานได้สะสมมาตลอดชีวิตหมดไปกับค่าเล่าเรียนที่แสนแพง Jobs ตัดสินใจลาออกเพราะเขามองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งไม่สามารถช่วยให้เขาคิดได้ว่า เขาต้องการจะทำอะไรในชีวิต เมื่อมองกลับไปเขาจะรู้สึกว่าการตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะการลาออกทำให้เขาไม่ต้องฝืนเข้าเรียนในวิชาปกติที่บังคับเรียนซึ่งเขาไม่เคยชอบหรือสนใจ แต่สามารถเข้าเรียนในวิชาที่เขาเห็นว่าน่าสนใจได้ แต่เขาก็ยอมรับว่า นั่นเป็นชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อเขาไม่ได้เป็นนักศึกษาจึงไม่มีห้องพักในหอพักและต้องนอนกับพื้นในห้องของเพื่อน ต้องเก็บขวดโค้กที่ทิ้งแล้วไปแลกเงินมัดจำขวดเพียงขวดละ 5 เซ็นต์ เพื่อนำเงินนั้นไปซื้ออาหาร และต้องเดินไกล 7 ไมล์ทุกคืนวันอาทิตย์ เพื่อไปกินอาหารดีๆสัปดาห์ละหนึ่งมื้อที่วัด Hare Krishna อย่างไรก็ตามเขาก็ชอบที่หลังจากลาออก เขาสามารถที่จะไปเข้าเรียนวิชาใดก็ได้ที่สนใจและวิชาทั้งหลายที่เขาได้เรียนในช่วงนั้น เขาใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือนโดยเลือกเรียนตามความสนใจและสัญชาตญาณของเขาจะพาไป วิชาเหล่านั้นได้กลายมาเป็นความรู้ที่หาค่ามิได้ให้แก่ชีวิตของเขาในเวลาต่อมาและหนึ่งในนั้นคือ วิชา ศิลปะการประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร (Calligraphy)

Jobs ยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเองก็ยังมองไม่ออกเช่นกันว่าจะนำความรู้ที่ได้จากวิชานี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในอนาคตของเขา แต่ 10 ปี หลังจากนั้น เมื่อเขากับเพื่อนช่วยกันออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก วิชานี้ได้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไม่เคยนึกฝันมาก่อนและทำให้ Mac กลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีการออกแบบตัวอักษรและการจัดช่องไฟที่สวยงาม รวมทั้งเครื่องพีซี ซึ่งใช้ Windows ที่รับลอกแบบไปจาก Mac อีกต่อหนึ่ง(รู้สึก Jobs จะฝังใจกับเรื่องนี้พอสมควร มีโอกาสเป็นแขวะแซว Bill Gates! ตลอด) ถ้าหากเขาไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาก็คงจะไม่เข้าไปนั่งเรียนวิชานี้ และ Mac ก็คงไม่อาจจะมีตัวอักษรแบบต่างๆ ที่หลากหลายหรือ font ที่มีการเรียงพิมพ์ที่ได้สัดส่วนสวยงาม อย่างไรก็ตาม Jobs บอกว่า ในเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถหยั่งรู้การเชื่อมโยงจุดต่างๆของชีวิตหรือหยั่งรู้อนาคตได้ว่า วิชาออกแบบและประดิษฐ์ตัวอักษร (Calligraphy) จะกลายเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ในการออกแบบMac เขาสามารถเห็นการเชื่อมของจุดระหว่าง Calligraphy กับการคิดค้นเครื่อง Mac ได้อย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไปเท่านั้น และในเมื่อไม่มีใครที่จะหยั่งรู้การเชื่อมโยงจุดต่างๆแต่ละจุดของช่วงชีวิตจะส่งผลต่อไปในอนาคตให้เป็นไปอย่างไร ดังนั้นคำแนะนำของ Jobs ก็คือ คุณจะต้อง “ไว้ใจและเชื่อมั่น” ว่า จุดทั้งหลายที่คุณได้ผ่านมาในชีวิตคุณ มันจะเชื่อมโยงเข้าหาด้วยกันเองในอนาคต ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา โชคชะตา ชีวิต หรือกฎแห่งกรรม ขอเพียงแต่คุณต้องมีศรัทธายอบรับในสิ่งนั้นอย่างแน่วแน่.

......................................................................


II. บทเรียนชีวิตบทที่สอง "ความรักและการสูญเสีย" (love and loss.)

Jobs อายุเพียง 20 ปี เมื่อเขาเริ่มก่อตั้ง Apple กับเพื่อนที่โรงรถของพ่อ(บุญธรรม) เพียง 10 ปีให้หลัง Apple เติบโตจากคนเพียง 2 คนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตที่มีมูลค่า 2พันล้านดอลลาร์และพนักงานมากกว่า 4,000 คน แต่หลังจากที่เขาเพิ่งเปิดตัว Macintosh อันเป็นประดิษฐกรรมสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดของเขา ณ ขณะนั้น เพียงปีเดียว Jobs ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งเองมากับมือเมื่อมีอายุเพียงแค่ 30 ปี หลังจากการที่เขาทะเลาะถึงขั้นแตกหักกับนักบริหารมืออาชีพที่เขาเป็นผู้ว่าจ้างให้มาบริหารบริษัท โดยกรรมการบริษัทเข้าข้างผู้บริหารคนนั้น ข่าวการถูกไล่ออกของเขาเป็นข่าวที่ใหญ่มาก และเช่นเดียวกัน มันเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา

Jobs กล่าวว่า เขาได้สูญเสียสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิตไปในพริบตาและเขารู้สึกเหมือนตัวเองพังทลาย เขาไม่รู้จะทำอะไรต่อดีอยู่นานหลายเดือนและถึงกับคิดจะหนีออกจากวงการคอมพิวเตอร์ไปชั่วชีวิต แต่ความรู้สึกอย่างหนึ่งกลับค่อยๆ สว่างขึ้นข้างในตัวเขาและเขาก็พบว่า เขายังคงรักในสิ่งที่เขาทำมาแล้ว ความล้มเหลวที่ Apple มิอาจเปลี่ยนแปลงความรักที่เขามีต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทมาแม้เพียงน้อยนิด เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเขาพบว่า การถูกอัปเปหิจาก Apple กลับกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเขาเพราะความหนักอึ้งของการประสบความสำเร็จได้ถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายของการเป็นมือใหม่อีกครั้ง และช่วยปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระจนสามารถเข้าสู่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดในชีวิตของเขา

ระหว่างช่วง 5 ปี หลังจากนั้น Jobs ได้เริ่มตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NeXT และ Pixar และพบรักกับ Laurence ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของเขา Pixarได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องแรกของโลกนั่นคือ Toy Story และขณะนี้เป็นสตูดิโอผลิตการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ต่อมา Apple ได้มาซื้อ NeXT ทำให้ Jobs ได้กลับคืนสู่ Apple อีกครั้งและเทคโนโลยีที่เขาได้คิดค้นขึ้นที่ NeXT ได้กลายมาเป็นหัวใจของยุคฟื้นฟูของ Apple Jobs กล่าวว่า ความล้มเหลวเป็นยาขมแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ เมื่อชีวิตเล่นตลกกับคุณ จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรัก Jobs เชื่อว่า สิ่งเดียวที่ทำให้เขาลุกขึ้นได้ในครั้งนั้นคือ เขารักในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้น คุณจะต้องหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ(You've got to find what you love) เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้คุณเกิดความพึงพอใจอย่างแท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่คุณจะทำให้คุณสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ก็คือคุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำ และถ้าหากคุณยังหามันไม่พบ อย่าหยุดหาจนกว่าจะพบและคุณจะรู้ได้เองเมื่อคุณได้ค้นพบสิ่งที่คุณรักแล้ว

......................................................................


III. ส่วนบทเรียนชีวิตบทสุดท้ายในโอวาทของ Jobs "ความตาย" (Death)

เมื่ออายุ 17 ปี Jobs ประทับใจในข้อความหนึ่งที่เขาได้อ่านมาซึ่งเสนอแนวคิดให้คนมีชีวิตอยู่โดยคิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต และตลอด 33 ปีที่ผ่านมา Jobs จะถามตัวเองในกระจกทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของเขาเขาจะยังคงต้องการทำสิ่งที่เขากำลังจะทำในวันนี้หรือไม่ ถ้าหากคำตอบเป็น “ไม่” ติดๆ กันหลายวัน เขาก็รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต

Jobs กล่าวว่า วิธีคิดว่าคนเราอาจจะตายวันตายพรุ่ง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่เขาเคยรู้จักมาซึ่งได้ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจครั้งใหญ่ๆในชีวิตได้เพราะเมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียงเกียรติยศความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่าความหมายและความสำคัญที่แท้จริงเท่านั้น วิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้คุณไม่ตกลงไปในกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรที่จะต้องสูญเสียเพราะความจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีแต่ตัวเปล่าๆ ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อปีที่แล้ว(2004)เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อนชนิดที่รักษาไม่ได้และจะตายภายในเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน แพทย์ถึงกับบอกให้เขากลับไปสั่งเสียครอบครัวซึ่งเท่ากับเตรียมตัวตาย แต่แล้วในเย็นวันเดียวกัน เมื่อแพทย์ได้ใช้กล้องสอดเข้าไปตัดชิ้นเนื้อที่ตับอ่อนของเขาออกมาตรวจอย่างละเอียดก็กลับพบว่า มะเร็งตับอ่อนที่เขาเป็นนั้นแม้จะเป็นชนิดที่พบได้ยากก็จริงแต่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และเขาก็ได้รับการผ่าตัดและหายดีแล้ว นั่นเป็นการเข้าใกล้ความตายมากที่สุดเท่าที่ Jobs เคยเผชิญมาและทำให้ขณะนี้เขายิ่งสามารถพูดได้เต็มปากเสียยิ่งกว่าเมื่อตอนที่เขาเพียงแต่ใช้ความตายมาเตือนตัวเองเป็นมรณานุสติว่า ไม่มีใครที่อยากตาย แม้แต่คนที่อยากขึ้นสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนเพื่อจะไปสวรรค์ แต่ก็ไม่มีใครหลีกหนีความตายพ้น

Jobs มองว่า ความตายคือประดิษฐกรรมที่ดีที่สุดของชีวิต ความตายคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ความตายกวาดล้างสิ่งเก่าๆให้หมดไปเพื่อเปิดทางให้แก่สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นเวลาของคุณจึงมีจำกัดและอย่ายอมเสียเวลามีชีวิตอยู่ในชีวิตของคนอื่น อย่ามีชีวิตอยู่ด้วยการครอบงำจากความคิดของคนอื่น และอย่ายอมให้เสียงของคนอื่นๆมากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และที่สำคัญที่สุดคือคุณจะต้องมีความกล้าที่จะก้าวไปตามที่หัวใจคุณปรารถนา และสัญชาตญาณของคุณจะพาไป เพราะหัวใจและสัญชาตญาณของคุณรู้ดีว่า คุณต้องการจะเป็นอะไร

Jobs ปิดท้ายสุนทรพจน์ของเขา ด้วยการหยิบยกวลีที่อยู่ใต้ภาพบนปกหลังของวารสารฉบับสุดท้ายของวารสารเล่มหนึ่งที่เลิกผลิตไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเขาเปรียบวารสารดังกล่าวเป็น Google บนแผ่นกระดาษและเป็นประดุจคัมภีร์ของคนรุ่นเขา วารสารดังกล่าวมีชื่อว่า The Whole Earth Catalog จัดทำโดย Stewart Brand ส่วนวลีนั้นคือ “จงหิวโหย จงโง่เขลาอยู่เสมอ”

"Stay Hungry Stay Foolish"
......................................................................
(Transcript ต้นฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่ )

วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2552

"จงต่อกรกับความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจ" Bill Gates

"Serving people who are suffering from the worst inequities"

สุนทรพจน์ของอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก ที่ยิ่งรวยยิ่งทำบุญ! "Bill Gates"(เจ้าของ Microsoft : ผลิตภัณฑ์ software อย่าง Windows, MS offices, MSN, Hotmail ที่ทุกคนทั่วโลกต้องมีต้องใช้เป็นมาตรฐานประจำบ้านไปแล้ว) กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วันที่ 7 มิถุนายน 2007

อ่านสุนทรพจน์ของ Gates แล้ว นึกถึง คหบดีใจบุญยุคพุทธกาลท่านหนึ่ง ชื่อ "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" รวยแล้วชอบทำบุญให้ทาน ทั้งให้ทานแก่คนยากจน การถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่างๆนานา จนกระทั้งทรัยพ์สินเงินทองที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ ในที่สุดข้าวที่หุงถวายพระก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำผักเสี้ยนดอง ตนเองก็พลอยอดยากลำบากไปด้วย แต่ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญต่อไป...

ตามหลักกรรมของ พุทธศาสนา แล้ว "เหตุที่คนเกิดมาร่ำรวย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และบริจาคทานด้วยจิตบริสุทธิ์สม่ำเสมอตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือในชาติปัจจุบัน"

ถึงแม้บิล เกตส์ ยังไม่ถึงขั้น ทำบุญจนสมบัติหร่อยหรอย ตนเองต้องพลอยลำบากเยี่ยง อนาถบิณฑิกเศรษฐี (อาจเป็นเพราะ สมบัติเงินทองมีมากกว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี หลายล้านเท่ากระมัง เลยไม่ร่อยหรอง่ายๆ ฮึ ๆ ๆ ) แต่ก็นับว่าเป็นตัวอย่างเศรษฐีที่น่าชื่นชมและให้ความเคารพท่านหนึ่ง ที่รวยแล้วมีสำนึกในการบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ หาหนทางในการลดความไม่เท่าเทียมในสังคม รู้จักหยุดรู้จักพอ...(ไม่เหมือนเศรษฐีบางจำพวกที่ยิ่งรวยกลับยิ่งไม่รู้จักพอ นอกจากไม่คิดช่วยเหลือเผื่อแผ่ซ้ำยิ่งใช้ความรวยเอาเปรียบเบียดเบียนสังคม! หรือไม่ก็มัวแต่สาละวนกับการแข่งวาสนาเบ่งบารมี อิจฉาริษยาเกิดศึกสายเลือดแย่งชิงสมบัติกันเอง...เวร!)

..............................................................

สุนทรพจน์วันรับปริญญาบัณฑิตใหม่ โดย Bill Gates ณ Harvard University
June 11th, 2007.

"ท่านอธิการบดีบ็อค ท่านอดีตอธิการบดีรูเดนสไตน์ ท่านอธิการบดีใหม่เฟาส์ต์ ท่านสมาชิกสภาฮาร์วาร์ด สภาตรวจสอบ คณาจารย์ ผู้ปกครอง และโดยเฉพาะบัณฑิตทุกคนในที่นี้

ผมรอนานกว่า 30 ปีเพื่อจะพูดว่า “พ่อครับ ผมบอกพ่อเสมอว่าผมจะกลับมาเรียนให้จบ”

ผมอยากขอบคุณฮาร์วาร์ดสำหรับเกียรติประวัติที่มาถูกเวลาในครั้งนี้ ผมกำลังจะเปลี่ยนงานในปีหน้า และก็เป็นเรื่องดีที่จะมีปริญญาตรีบนประวัติย่อของผมเสียที

ผมชื่นชมบัณฑิตทั้งหลายในวันนี้ที่เดินทางสายตรงกว่าผมในการไขว่คว้าปริญญา สำหรับตัวผมเอง ผมแค่มีความสุขที่ เดอะ คริมสัน (The Harvard Crimson : หนังสือพิมพ์นักศึกษาประจำมหาวิทยาลัย) เรียกผมว่า “ดร็อปเอ้าท์ผู้ประสบความสำเร็จที่สุดของฮาร์วาร์ด” ผมว่าตำแหน่งนี้ทำให้ผมเป็นตัวแทนนักเรียนรุ่นพิเศษ…ผมประสบความสำเร็จที่สุดในบรรดานักเรียนที่เรียนไม่จบ

แต่ผมก็อยากให้คนรู้จักผมด้วยในฐานะคนที่หว่านล้อมให้ สตีฟ บาลเมอร์(เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft กับ คนสำคัญ) ลาออกกลางคันระหว่างเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ผมเป็นอิทธิพลที่แย่มากๆ นั่นคือเหตุผลที่มหาวิทยาลัยเชิญผมมาพูดในงานรับปริญญาของพวกคุณ ถ้าผมพูดในงานรับน้องใหม่ ป่านนี้พวกคุณหลายคนก็คงไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้

ฮาร์วาร์ดเป็นประสบการณ์อันมหัศจรรย์มากสำหรับผม ผมพบว่าชีวิตในโลกวิชาการนั้นมีเสน่ห์ ผมเคยไปนั่งฟังเลคเชอร์หลายวิชาที่ผมไม่ได้ลงทะเบียน และชีวิตในหอพักก็สุดยอด ตอนนั้นผมอยู่หอเคอร์เรียร์ (Currier House) ซึ่งอยู่ในบริเวณของวิทยาลัยแรดคลิฟ ตอนกลางคืนดึกๆ หลายคนจะมานั่งคุยกันในห้องผม เพราะทุกคนรู้ว่าผมไม่เคยห่วงว่าจะตื่นเช้าไม่ได้ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมผมกลายเป็นผู้นำของกลุ่มคนที่ไม่เข้าสังคม เราเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างเหตุผลให้กับการที่เราไม่คบกับพวกที่เข้าสังคมเก่งๆ

แรดคลิฟเป็นถิ่นที่น่าอยู่มากๆ เพราะมีผู้หญิงอยู่แถวนั้นมากกว่า แล้วนักเรียนชายแถวนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเก่งวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ สองอย่างนี้รวมกันทำให้ผมมีโอกาสดีที่สุด พวกคุณคงรู้ว่าผมหมายถึงอะไร นั่นคือจุดที่ผมได้รับบทเรียนอันน่าเศร้าว่า การปรับปรุงแต้มต่อของคุณไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จ

หนึ่งในความทรงจำที่แจ่มชัดที่สุดของผมเกี่ยวกับฮาร์วาร์ดเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 1975 เมื่อผมหมุนโทรศัพท์จากหอ ไปหาบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองอัลบูเคอร์คี (Albuquerque) ที่กำลังเริ่มผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกๆ ของโลก ผมโทรไปเสนอขายโปรแกรมให้พวกเขา

ผมกังวลว่าพวกเขาจะวางหูเมื่อรู้ว่าผมเป็นแค่นักเรียนที่โทรมาจากหอ แต่พวกเขาก็บอกผมแค่ “เรายังไม่พร้อม อีกเดือนนึงค่อยมาหาเรา” ซึ่งนั่นก็เป็นข่าวดี เพราะเรายังไม่ได้เริ่มเขียนโปรแกรมอะไรเลย นับจากวันนั้น ผมทำงานทั้งวันทั้งคืนกับโครงการพิเศษเล็กๆ ชิ้นนี้ ที่กลายเป็นจุดจบของการศึกษาในมหาวิทยาลัยของผม และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนวิเศษกับไมโครซอฟท์

สิ่งที่ผมจำได้แม่นยำที่สุดเกี่ยวกับฮาร์วาร์ด คือการได้อยู่ท่ามกลางพลังงานและพลังสมองอันมหาศาล มันทำให้ผมรู้สึกมีชีวิตชีวา ประหม่า และบางครั้งก็ท้อแท้ แต่ไม่เคยหยุดท้าทาย มันเป็นสิทธิพิเศษอันน่าทึ่ง และถึงแม้ว่าผมจะออกจากโรงเรียนกลางคัน ประสบการณ์ในฮาร์วาร์ด มิตรภาพที่ผมสร้าง และไอเดียต่างๆ ที่ผมค้นคว้าระหว่างเรียนหนังสือก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวผมไป

แต่เมื่อหวนนึกถึงช่วงเวลานั้นอย่างจริงจัง … ผมก็มีเรื่องเสียดายมากๆ เรื่องหนึ่ง

ผมออกจากฮาร์วาร์ดโดยไม่เคยตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันอันร้ายแรงในโลกนี้ ความเหลื่อมล้ำอันน่าตระหนกของสุขภาพ ความร่ำรวย และโอกาสอันกดทับให้คนหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง ฮาร์วาร์ดสอนผมมากมายเกี่ยวกับไอเดียใหม่ๆ ในเศรษฐศาสตร์และการเมือง ผมได้รับรู้เรื่องราวของความก้าวหน้าใหม่ๆ ในแวดวงวิทยาศาสตร์

แต่ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติไม่ได้อยู่ที่การค้นพบใหม่ๆ หากอยู่ที่การใช้การค้นพบเหล่านั้นในทางที่ช่วยลดทอนความไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การศึกษาภาครัฐที่เข้มแข็ง ระบบประกันสุขภาพที่ได้คุณภาพ หรือด้วยการมอบโอกาสทางเศรษฐกิจ การลดระดับความไม่เท่าเทียมในโลก คือความสำเร็จอันสูงสุดของมนุษย์

ผมออกจากมหาวิทยาลัยโดยแทบไม่รู้เลยว่า เยาวชนหลายล้านคนถูกโกงโอกาสด้านการศึกษาในประเทศของเรานี่เอง และผมก็ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนหลายล้านคนที่อยู่กับความแร้นแค้นเหนือคำบรรยายและโรคร้ายต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา เวลาผ่านไปหลายสิบปี กว่าผมจะรู้เรื่องนี้

น้องๆ บัณฑิตทุกคนมาเรียนที่ฮาร์วาร์ดในยุคที่ไม่เหมือนเดิม พวกคุณรู้ดีเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในโลกของเรา มากกว่านักเรียนรุ่นก่อนๆ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ผมหวังว่าพวกคุณจะได้มีโอกาสระลึกได้ว่า ในยุคของเราที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เรามีพร้อมแล้วทั้งโอกาส และความสามารถที่จะจัดการและกำจัดความไม่เท่าเทียมกันเหล่านั้น

ลองคิดดูว่า ถ้าคุณมีเวลาว่างไม่กี่ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์ และมีเงินไม่กี่เหรียญต่อเดือนที่จะอุทิศให้กับการช่วยสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง และคุณก็อยากใช้เวลาและเงินไปกับสิ่งที่จะทำความแตกต่างให้มากที่สุดในการช่วยชีวิตและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน คุณจะเอาเวลาและเงินไปทำอะไร?

ผมและเมลินดา(ภรรยา)ก็เผชิญกับความท้าทายข้อเดียวกัน มีวิธีใดบ้างที่ทำให้เราสามารถช่วยคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่?

ระหว่างที่เราคุยกันเรื่องคำถามข้อนี้ เมลินดากับผมก็ได้อ่านบทความเกี่ยวกับเด็กจำนวนหลายล้านคนในประเทศยากจนที่ตายทุกปีจากโรคร้ายที่ไม่เป็นพิษภัยมานานแล้วในประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัด มาเลเรีย ปอดบวม ตับอักเสบ และไข้เหลือง โรคชนิดหนึ่งที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนคือ rotavirus กำลังคร่าชีวิตเด็กๆ กว่าครึ่งล้านคนในแต่ละปี ในจำนวนนี้ไม่มีเด็กอเมริกันแม้แต่หนึ่งคน

เราทั้งคู่รู้สึกช็อคมาก เราเคยคิดเอาเองว่า ถ้าเด็กหลายล้านคนกำลังจะตาย และมีหนทางที่จะช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้ โลกของเราก็ต้องให้ความสำคัญกับการค้นพบและนำส่งยาไปช่วยชีวิตพวกเขาเป็นอันดับแรก แต่โลกของเราไม่ได้ทำแบบนี้ มีวิธีการมากมายที่มีต้นทุนต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐที่จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ แต่กลับไม่มีใครใช้

ถ้าคุณคิดว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน มันก็เป็นเรื่องน่าสะอิดสะเอียนมากๆที่ได้รู้ว่า มีคนมองชีวิตคนบางคนว่า คุ้มค่า ที่จะช่วยเหลือ และมองว่าอีกหลายคน ไม่คุ้มค่า เราบอกตัวเองว่า “เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็สมควรเป็นเป้าหมายหลักของการให้ของเรา”

ดังนั้นเราจึงเริ่มงานของเราจากจุดเดียวกับทุกคนในที่นี้ คือด้วยการตั้งคำถามว่า “โลกเรากำลังปล่อยให้เด็กๆ เหล่านี้ตายได้อย่างไร?”

คำตอบที่เราค้นพบเป็นคำตอบที่เรียบง่ายและโหดร้าย ระบบตลาดไม่มอบประโยชน์ใดๆ ให้กับการช่วยชีวิตเด็กเหล่านี้ และรัฐบาลทั่วโลกก็ไม่ให้เงินอุดหนุน เด็กๆ จึงต้องตายเพราะพ่อแม่ของพวกเขาไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด และไม่มีสิทธิมีเสียงในระบบ

แต่พวกคุณและผมมีทั้งสองอย่าง

เราสามารถทำให้พลังของตลาดทำงานในทางที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้มากขึ้น ถ้าเราสามารถพัฒนาทุนนิยมที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ถ้าเราสามารถขยับขยายพรมแดนของระบบตลาด ให้คนจำนวนมากกว่าเดิมสามารถทำกำไรได้ หรืออย่างน้อยก็เอาตัวรอดได้ในทางที่ รับใช้ผู้ยากไร้ที่กำลังเดือดร้อนจาก ความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจที่สุด(The worst inequities) นอกจากนั้น เราก็ยังสามารถกดดันรัฐบาลทั่วโลกให้ใช้เงินภาษีไปในทางที่สะท้อนคุณค่าต่างๆ ที่ผู้เสียภาษีเหล่านั้นให้ความสำคัญ อย่างดีขึ้นกว่าเดิม

ถ้าเราสามารถค้นพบวิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ยากไร้ ในทางทำให้ภาคธุรกิจมีกำไร และนักการเมืองได้คะแนนนิยม ก็เท่ากับว่าเราได้ค้นพบ วิถีอันยั่งยืน แห่งการลดระดับความไม่เท่าเทียมกันในโลกนี้ ภารกิจนี้เป็นภารกิจเปิดซึ่งไม่มีวันสิ้นสุด แต่ความพยายามร่วมกันของทุกฝ่ายในการรับมือกับความท้าทายครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงโลก

ผมมองโลกในแง่ดีว่าเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ แต่ผมก็ได้คุยกับคนขี้สงสัยหลายคนที่อ้างว่า เราไม่มีความหวัง พวกเขาบอกว่า “ความไม่เท่าเทียมกันอยู่กับเรามาตั้งแต่แรก และจะอยู่กับเราไปจนถึงจุดจบของสังคมมนุษย์ เพราะคนทั่วไปไม่มีความห่วงใยในเรื่องนี้เลย” แต่ผมไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง

ผมเชื่อว่า เรามีความห่วงใยเกินกว่าความรู้ว่าจะทำอะไรกับมัน

เราทุกคนในสนามแห่งนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องเคยเห็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เราหัวใจสลาย แต่แล้วเราก็ไม่ทำอะไร ไม่ใช่เพราะเราไม่สนใจ แต่เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ถ้าเรารู้ว่าเราจะช่วยได้อย่างไร เราก็จะต้องทำแน่ๆ

สิ่งที่กีดขวางความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ความห่วงใยที่มีไม่พอ หากเป็นความซับซ้อนที่มีมากเกินไป

ก่อนที่เราจะแปลงความห่วงใยให้เป็นการกระทำได้ เราต้องมองเห็นปัญหา มองเห็นวิธีแก้ไข และมองเห็นผลกระทบ แต่ความซับซ้อนต่างๆ กีดขวางขั้นตอนทั้งสามนี้

แม้ว่าตอนนี้เราจะมีอินเทอร์เน็ตและข่าวให้ดูตลอด 24 ชั่วโมง มันก็ยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่จะทำให้คนมองเห็นปัญหาจริงๆ เมื่อไรก็ตามที่เครื่องบินตก เจ้าหน้าที่รัฐก็จัดงานแถลงข่าวทันที เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะสอบสวนหาสาเหตุ และป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจริงๆ พวกเขาจะพูดว่า “ในบรรดาคนทั้งหมดในโลกนี้ที่ต้องตายในวันนี้จากสาเหตุที่ป้องกันได้ คนจำนวนกึ่งหนึ่งในหนึ่งเปอร์เซ็นต์อยู่ในเครื่องบินลำที่ตก เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหาที่ทำให้คนจำนวนกึ่งหนึ่งในหนึ่งเปอร์เซ็นต์นั้นต้องเสียชีวิต”

ปัญหาที่ใหญ่กว่าไม่ใช่เครื่องบินตก แต่เป็นจำนวนคนตายหลายล้านคนที่ป้องกันได้

เราไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความตายของพวกเขา เพราะสื่อมวลชนนำเสนอเฉพาะข่าวใหม่ๆ คนหลายล้านคนที่กำลังจะตายไม่ใช่ข่าวใหม่ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะมองข้าม แต่ถึงแม้เมื่อเรามองเห็นหรืออ่านพบ ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสนใจไว้ที่ปัญหานี้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะมองความทุกข์ยากที่ซับซ้อนจนเราไม่รู้จะช่วยได้อย่างไร ฉะนั้นเราจึงเบือนหน้าหนีไปทางอื่น

ถ้าเราได้ผ่านพ้นขั้นตอนแรกคือมองเห็นปัญหาจริงๆ ไปแล้ว เราก็จะมาถึงขั้นที่สอง นั่นคือ ฝ่าฟันความซับซ้อนเพื่อหาทางแก้ไข

การหาวิธีแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่เราไม่ทำไม่ได้ ถ้าเราต้องการทำให้ความห่วงใยของเราเกิดประโยชน์จริงๆ ถ้าเรามีคำตอบที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นผล ทุกครั้งที่องค์กรหรือปัจเจกชนถามว่า “เรา/ฉันจะช่วยได้อย่างไร?” เราก็จะสามารถลงมือปฏิบัติได้ ทำให้พลังความห่วงใยในโลกไม่สูญเปล่า แต่ความสลับซับซ้อนของปัญหาทำให้เป็นเรื่องยากที่จะวางขั้นตอนปฏิบัติสำหรับคนที่ห่วงใย และนั่นทำให้ความห่วงใยของพวกเขาไม่ค่อยก่อให้เกิดประโยชน์

การฝ่าฟันความซับซ้อนเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหามีทั้งหมดสี่ขั้นตอน กล่าวคือ การกำหนดเป้าหมาย การหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การหาเทคโนโลยีในอุดมคติสำหรับวิธีนั้นๆ และการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดมาใช้ไปพลางๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ซับซ้อน เช่น ยารักษาโรค หรือผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย เช่น มุ้ง

ตัวอย่างหนึ่งของขั้นตอนเหล่านี้คือปัญหาโรคเอดส์ แน่นอน เป้าหมายกว้างๆ ของเราคือการกำจัดโรคนี้ไปจากโลก วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการป้องกันโรคเอดส์ เทคโนโลยีในอุดมคติคือวัคซีนที่ให้ภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตหลังการฉีดเพียงหนึ่งครั้ง นั่นคือเหตุผลที่รัฐบาล บริษัทยา และมูลนิธิต่างๆ ให้เงินสนับสนุนการวิจัยวัคซีน แต่งานของพวกเขาน่าจะใช้เวลานานกว่าสิบปีจึงจะสำเร็จ ดังนั้นในระหว่างนี้ เราจึงต้องทำในสิ่งที่เราทำได้ และวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ตอนนี้คือ การโน้มน้าวให้คนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การบรรลุเป้าหมายด้านการป้องกันดังกล่าวแปลว่าเราต้องเริ่มวงจรที่มีสี่ขั้นตอนขึ้นใหม่ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่หยุดคิดหรือหยุดทำงาน และไม่ทำแบบเดียวกับที่เราเคยทำกับปัญหาโรคมาเลเรียและวัณโรคในยุคศตวรรษที่ 20 นั่นคือ ยอมแพ้ต่อความซับซ้อนและเลิกล้มความพยายามที่จะแก้ปัญหา

ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่มองเห็นปัญหาและค้นพบวิธีแก้ไขแล้ว คือการวัดผลกระทบจากงานของคุณ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลว คนอื่นๆ จะได้เรียนรู้จากความพยายามของคุณได้

แน่นอน นั่นหมายความว่าคุณต้องเก็บสถิติ คุณต้องแสดงผลให้ได้ว่า โครงการของคุณกำลังช่วยให้เด็กหลายล้านคนได้รับการฉีดวัคซีน คุณต้องแสดงให้เห็นได้ว่าเด็กๆ ที่ใกล้ตายจากโรคร้ายเหล่านั้นมีจำนวนลดลง นี่เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เพราะมันจะช่วยให้คุณปรับปรุงโครงการนี้ได้เท่านั้น แต่สถิติเหล่านี้จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนอีกมากจากภาคธุรกิจและภาครัฐ

แต่ถ้าคุณอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นมีส่วนร่วม คุณต้องแสดงมากกว่าตัวเลข คุณต้องสื่อสารผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากงานของคุณ คนอื่นๆ จะได้รู้สึกว่า การช่วยชีวิตคนหนึ่งคนนั้น มีความหมายต่อครอบครัวของเขาอย่างไร

ผมจำได้ว่าผมเคยไปที่เมืองดาวอสหลายปีมาแล้ว เพื่อร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับอนามัยโลกที่กำลังอภิปรายเรื่องวิธีช่วยชีวิตคนหลายล้านคน หลายล้าน! ลองคิดถึงความรู้สึกอิ่มใจจากการได้ช่วยชีวิตคนเพียงหนึ่งคน แล้วก็คูณความรู้สึกนั้นด้วยหลักล้าน… แต่แล้ว งานนั้นก็กลับเป็นงานสัมมนาที่น่าเบื่อที่สุดในชีวิตของผม มันน่าเบื่อเสียจนขนาดผมก็ทนอยู่ไม่ได้

สิ่งที่ทำให้ผมจดจำประสบการณ์ครั้งนั้นได้แม่นก็คือ ผมเพิ่งกลับมาจากงานของบริษัทที่เราจัดเพื่อเปิดตัวเวอร์ชั่น 13 ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งของเรา และในงานนั้นผู้คนมากมายก็กระโดดขึ้นลงและตะโกนด้วยความตื่นเต้น ผมชอบทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เหตุใดเราจึงไม่สามารถทำให้คนตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นอีก ที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์?

คุณไม่สามารถทำให้ใครตื่นเต้นกับอะไรได้ จนกว่าคุณจะช่วยให้พวกเขามองเห็นและรู้สึกได้ถึงผลกระทบ และวิธีที่คุณจะทำอย่างนั้นได้ก็เป็นคำถามที่ซับซ้อนข้อหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีอยู่ ใช่ ความไม่เท่าเทียมกันอยู่กับเรามาแล้วนานชั่วนิรันดร์ แต่เครื่องมือใหม่ๆ ที่ตอนนี้เรามีใช้เพื่อฝ่าฟันและลดทอนความซับซ้อนนั้นไม่ได้อยู่กับเรามาตลอด เครื่องมือเหล่านั้นเป็นของใหม่ ของที่จะช่วยให้ความห่วงใยของเราเกิดประโยชน์สูงสุดได้ และนั่นคือเหตุผลที่อนาคตจะแตกต่างจากอดีตได้

นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มอบความหมายให้กับยุคของเรา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต กำลังมอบโอกาสที่เราไม่เคยมีมาก่อน ในการกำจัดความแร้นแค้นในโลกและป้องกันความตายจากโรคร้ายแรงที่ป้องกันได้

เมื่อหกสิบปีที่แล้ว จอร์จ มาร์แชล {George Marshall ผู้นำกองทัพบกอเมริกันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ออกแบบแผนการฟื้นฟูทวีปยุโรปที่ได้รับการขนานนามว่า ‘แผนมาร์แชล’ (The Marshall Plan) ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1953} มากล่าวสุนทรพจน์ในงานวันรับปริญญาที่นี่ และประกาศแผนที่จะช่วยเหลือประเทศในทวีปยุโรปหลังสงคราม เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าความยากลำบากประการหนึ่งคือ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนมากเสียจนข้อเท็จจริงที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุนำเสนอต่อประชาชน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจสถานการณ์จริงๆ ได้ยาก เมื่อเฝ้าดูจากระยะทางที่ห่างไกลขนาดนี้ (ระหว่างอเมริกากับยุโรป) แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะเข้าใจความสำคัญของสถานการณ์จริงๆ”

สามสิบปีหลังจากที่มาร์แชลกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อนักศึกษารุ่นเดียวกับผมรับปริญญาโดยไม่มีผม เทคโนโลยีที่จะทำให้โลกเล็กลง เปิดกว้างยิ่งขึ้น มองเห็นเด่นชัดกว่าเดิม และใกล้กันมากกว่าเดิมก็กำลังอุบัติขึ้น

กำเนิดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลราคาถูกทำให้เกิดเครือข่ายอันทรงพลัง ที่ได้เปลี่ยนแปลงโอกาสในการเรียนรู้และติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์

สิ่งที่มหัศจรรย์มากๆ เกี่ยวกับเครือข่ายนี้คือ มันไม่เพียงแต่ย่นระยะทางและทำให้ทุกคนกลายเป็นเพื่อนบ้านของคุณเท่านั้น แต่มันยังเพิ่มจำนวนผู้ชาญฉลาดที่สามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งทำให้อัตราการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าทึ่ง

ในขณะเดียวกัน คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มีจำนวนเพียงหนึ่งในหกของประชากรโลกเท่านั้น นั่นหมายความว่ามันสมองอันสร้างสรรค์มากมายต้องถูกกีดกันออกนอกวงอภิปราย คนฉลาดที่มีทั้งปัญญาที่ใช้ได้ในโลกแห่งความจริงและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ผู้ไม่มีเทคโนโลยีที่จะลับพรสวรรค์หรือแบ่งปันไอเดียให้โลกรู้

เราต้องการให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ เพราะความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้กำลังก่อการปฏิวัติในสิ่งที่มนุษย์เราสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเหลือไม่แต่เฉพาะรัฐบาลในประเทศต่างๆ แต่ยังช่วยให้มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน องค์กรเล็กๆ และแม้กระทั่งคนธรรมดา ได้มองเห็นปัญหา มองเห็นวิธีการแก้ไข และวัดผลของความพยายามของพวกเขาที่จะกำจัดความหิวโหย ความยากจน และความสิ้นหวังที่ จอร์จ มาร์แชล พูดถึงเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

สมาชิกครอบครัวฮาร์วาร์ดทุกท่าน สนามแห่งนี้คือหนึ่งในศูนย์รวมของพรสวรรค์ทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เพื่ออะไรกัน?

ไม่ต้องสงสัยว่าคณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษา และผู้อุปถัมภ์ของฮาร์วาร์ดจะไม่ใช้อำนาจและพลังของพวกเขาในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศนี้และทั่วโลก แต่เราจะทำให้ดีกว่าเดิมได้หรือเปล่า? ฮาร์วาร์ดจะทุ่มเทมันสมองเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของสถาบันแห่งนี้ได้หรือไม่?

ผมมีคำวิงวอนข้อหนึ่งที่อยากจะร้องขอต่อท่านอธิการบดีและเหล่าอาจารย์ทั้งหลาย ผู้เป็นผู้นำทางความคิดของฮาร์วาร์ด ในขณะที่พวกท่านจ้างอาจารย์ใหม่ มอบตำแหน่ง ทบทวนหลักสูตร และกำหนดเงื่อนไขของการมอบปริญญาบัตร กรุณาถามกันเองว่า:

เราควรทุ่มเทมันสมองที่ดีที่สุดของเราให้กับการแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดหรือไม่? ฮาร์วาร์ดควรสนับสนุนให้คณาจารย์พุ่งเป้าไปที่ความไม่เท่าเทียมกันที่ร้ายแรงที่สุดในโลกหรือไม่? ควรหรือไม่ที่นักศึกษาฮาร์วาร์ดจะได้เรียนเกี่ยวกับความเข้มข้นของความยากจนในโลก …ความอดอยากอันแพร่หลาย …ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด …เด็กผู้หญิงที่ไม่ได้ไปโรงเรียน …เด็กๆ ที่ตายจากโรคร้ายที่เรารักษาได้? ควรหรือไม่ที่กลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์ที่สุดในโลก จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มคนที่ไร้สิทธิที่สุด?

คำถามเหล่านี้ไม่ใช่การเล่นสำนวน แต่เป็นสิ่งที่จะต้องตอบด้วยนโยบายของพวกท่าน

แม่ของผม คนที่ภาคภูมิใจมากในวันที่ผมเข้าฮาร์วาร์ดได้ ไม่เคยหยุดผลักดันให้ผมทำงานเพื่อคนอื่นให้มากกว่าเดิม ไม่กี่วันก่อนงานแต่งงานของผม แม่จัดงานเลี้ยงให้เจ้าสาว และในงานนั้นแม่ก็อ่านจดหมายที่เขียนขึ้นให้เมลินดาให้แขกฟัง ตอนนั้นแม่ผมป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แต่แม่ก็เห็นโอกาสที่จะเผยแพร่สารของแม่ จดหมายฉบับนั้นลงท้ายด้วยประโยคว่า “คนที่ได้รับอะไรไปมาก ย่อมถูกคาดหวังว่าจะให้มากเช่นกัน” (From those to whom much is given, much is expected)

เมื่อพวกคุณลองคิดถึงสิ่งที่พวกเราทุกคนในสนามแห่งนี้ได้รับ ไม่ว่าจะในด้านพรสวรรค์ อภิสิทธิ์ และ โอกาส พวกคุณก็จะเห็นว่าสิ่งที่โลกนี้ควรคาดหวังจากเรานั้น แทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย

เพื่อให้สอดคล้องกับความหวังของยุคนี้ ผมอยากจะกระตุ้นให้บัณฑิตทุกคนในที่นี้ครุ่นคิดถึงปัญหาที่ซับซ้อน ประเด็นที่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันอันฝังรากลึกซึ้ง จนกลายเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านในเรื่องนั้นๆ ถ้าคุณทำให้เรื่องนั้นเป็นโฟกัสของอาชีพการงานได้ นั่นจะเป็นเรื่องวิเศษมากๆ แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเพื่อทำตัวให้เป็นประโยชน์ คุณเพียงแต่ต้องใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ใช้พลังของอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ทันข่าวสารข้อมูล ค้นหาคนอื่นๆ ที่มีความสนใจตรงกัน มองเห็นสิ่งกีดขวางต่างๆ และหาทางที่จะฝ่าฟันมันออกไป

อย่าปล่อยให้ความซับซ้อนหยุดคุณไว้กับที่ จงทำตัวเป็นนักเคลื่อนไหว จงต่อกรกับความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจ การทำแบบนี้จะกลายเป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งในชีวิตคุณ

บัณฑิตทั้งหลาย พวกคุณกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคอันน่าอัศจรรย์ ในขณะที่คุณกำลังจะลาจากฮาร์วาร์ด คุณมีเทคโนโลยีที่สมาชิกของคนรุ่นผมไม่เคยมี คุณมีความสำนึกในความไม่เท่าเทียมกันระดับโลก สำนึกซึ่งพวกเราไม่เคยมี และสำนึกเช่นนั้นก็น่าจะทำให้คุณมีมโนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ มโนธรรมที่จะคอยกวนใจคุณ ถ้าคุณทอดทิ้งเพื่อนมนุษย์ที่คุณสามารถช่วยเหลือได้ด้วยความพยายามเพียงน้อยนิด คุณมีมากกว่าที่พวกเรามี คุณจะต้องเริ่มเร็วขึ้น และทำงานนี้ไปนานขึ้น

เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่คุณรู้ คุณจะไม่ทำเช่นนั้นได้อย่างไร?

ผมหวังว่า พวกคุณจะกลับมาที่ฮาร์วาร์ดในอีก 30 ปีข้างหน้า และครุ่นคิดถึงสิ่งที่พวกคุณทำด้วยพรสวรรค์และพลังงานที่มี ผมหวังว่า คุณจะวัดตัวเองไม่ใช่ด้วยความสำเร็จในอาชีพการงานเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยระดับผลสำเร็จของความพยายามที่จะลดทอนความไม่เท่าเทียมกันที่ฝังรากลึกที่สุดในโลก …ด้วยระดับความดีที่คุณทำต่อเพื่อนมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ผู้ไม่มีอะไรเหมือนกับคุณเลยยกเว้นความเป็นมนุษย์."

"โชคดีครับ." Bill Gates

..............................................................
(สนใจ Transcript ต้นฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่)

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

มหากาพย์ "กิมมิค"

"กิมมิค" ?... ก่อนเข้าสู่เนื้อหา...
...เพื่อความเป็นสิริมงคล ดูวิดีโอคลิปสั้นๆที่มี "กิมมิค" กันก่อน

1. งานของ Michel Gondry : Solves a Rubiks Cube with his Nose


2. งานโฆษณา Notebook ของ HP (Hewlett Packard)
..............................................................................


เข้าเรื่องกันเลย... A long time ago, in a galaxy far, far away...

Episode I : ตอน นิยามของ "กิมมิค"

"กิมมิค" เป็นภาษาอังกฤษ "Gimmick" แปลตรงๆตัวคือ "กลเม็ด"หรือ "เคล็ดลับ" แต่คำนี้ใช้ในความหมายที่กินความกว้างเกินกว่านั้น ยากที่จะกำหนดความหมายแบบง่ายๆสั้นๆได้ เป็นคำที่ใช้ได้กับทุกวงการ มักจะเอ่ยอ้างกันอยู่บ่อยๆในวงการเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ และงานการการตลาด อาทิ งานศิลปะ, กราฟฟิค, งานโฆษณา, งานออกแบบสินค้า-ผลิตภัณฑ์, หรือวรรณกรรม...สื่อไปในทาง การแอบมีลูกเล่นเล็กๆพิเศษๆในงาน, การประชดประชัน-ล้อเลียนชนิดแสบๆคันๆเกินกว่าธรรมดาทั่วๆไป, การหักมุมเหนือความคาดหมายจนถึงกับอึ้ง! หรือการปฏิวัติอย่างสิ้นเชิงจนต้องตะลึง ฯลฯ..."กิมมิค" เป็นเรื่องของ ความคิด(idea) ไม่ใช่เรื่องของศิลปะความสวยงาม, ความประณีตเชิงช่าง, ความยิ่งใหญ่อลังการ หรือความเลิศล้ำทันสมัยไฮเทค แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจนำมาใช้เป็นตัวส่งเสริมให้ "กิมมิค" มีความชัดเจนขึ้น(งานที่ออกแบบสวยงามหรืองานศิลป์ที่ใช้ฝีมือชั้นอภิมหาเซียน...อาจไม่มี "กิมมิค" เลยก็ได้! แยกแยะดีๆเดี๋ยวจะเข้าใจผิด)

..............................................................................

Episode II : ตอน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "กิมมิค"
(รู้จักกับ "กิมมิค" เพิ่มขึ้นอีก เพื่อความกระจ่าง)
+ "กิมมิค" มีรูปร่างไม่แน่นอน มักเร้นกายอยู่ใน...การคิดพลิกแพลง, คิดนอกกรอบ, การแหกกฏ, การละทิ้งความเคยชินเดิมๆ ฯลฯ (แต่การคิดฟุ้งซ่านสับสน จะเกิด "กิมมิค" ได้ยาก)

+ "กิมมิค" ปกติเก็บตัวปลีกวิเวก นานๆจะปรากฏตัวต่อสาธารณชนสักครั้ง โผล่มาทีไรคนแตกตื่นกันทุกที

+ "กิมมิค" เมื่อเปรียบเทียบกับ "ความคิดสร้างสรรค์(Creative Thinking)" ตัวต่อตัว จะพบว่า ทั้งฝีมือและหน้าตาก็ใกล้เคียงเหมือนกันราวกับเป็นพี่น้องฝาแฝด แต่กิมมิคจะเก็บตัวมากกว่า และเมื่อ"ความคิดสร้างสรรค์" มากับเจอ "กิมมิค" ความคิดสร้างสรรค์มักโค้งคำนับงามๆแล้วพูดว่า "ข้าน้อยขอคารวะครับท่านอาจารย์"

+ "กิมมิค" ชอบปรากฏตัวออกมากในรูปของ "Less is more" หรือในสำนวนไทยๆว่า "น้อยๆแต่เจ็บลึก"

+ "กิมมิค" ไม่นิยมความรุนแรง ในเชิงการมุ่งประหัดประหารโจมตีคู่ต่อสู้ แบบ คุณสุรยุทธ์เฮ้ย! ไม่ช่าย... คุณ"กลยุทธ์" หรือ คุณ"ยุทธศาสตร์" แต่มักสำแดง ความเฉียบขาด!ทางความคิด ให้ผู้พบเห็นได้เกิดอาการ ทึ่ง! เจือด้วยความบันทิงหรือขำได้บ้างเหมือนกัน

+ "กิมมิค" มีเมีย!! แล้วนะครับ ผมเสียใจด้วยจริงๆ แฟนเขานามว่านาง"จินตนาการ" วันใด จินตนาการ ไม่อยู่ กิมมิค ก็ล้มหมอนนอนเสื่อ ง่อยเปลี้ยเสียself ในบัดดล

+ "กิมมิค" มีคู่กรณีที่มองหน้ากันไม่ติดท่านหนึ่ง ชื่อว่า นาย "Same" นามสกุล "same"หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "Same same" (อยากรู้ว่า Same same หน้าตาประมาณไหนให้ไปดู สิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ในสภา อิ อิและที่ตลกคือบางที "กิมมิค" ก็ชอบปลอมตัวเป็น Same same เหมือนกัน แต่ในที่สุดผู้คนที่ได้พบเห็นมักจะจับได้ว่าปลอมตัวมา เพราะจะมีลักษณะไม่ Same same เสียทีเดียวแต่จะเป็น "Same same but different"

..............................................................................

Episode III : ตอน ผลจากการมี "กิมมิค"


สรุป : โดยส่วนตัวคิดว่า หากจะพูด "มีกิมมิค" เป็นภาษาไทยๆสั้นๆ...คำว่า "มีกึ๋น" เห็นจะใกล้เคียงสุด

ในเชิงธุรกิจพาณิชย์ "กิมมิค" ช่วยส่งเสริมให้สินค้า-ผลิตภัณฑ์ มีความโดนเด่นแหวกแนวไม่เหมือนใคร, สร้างความประทับใจฝังลึก, เป็นที่จดจำติดตา, ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Talk of the town" หรือแปลเป็นไทย = "ลือกันให้ลั่นสนั่นเมือง" และอาจเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มี Margin สูงขึ้นแบบถล่มทลาย...ที่สำคัญคือ การมี "กิมมิค" ทำให้โลกของเราใบนี้ไม่น่าเบื่อซักกะตาย มีสีสัน และน่าอยู่มากขึ้นอีกเยอะเลย :)

..............................................................................

"ขอ กิมมิค จงอยู่กับท่าน"

- The End -