วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

รบเถิด อรชุน !


มหาภารตยุทธ์ หรือ สงครามมหาภารตะ


เป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่มีชื่อเสียงของอินเดียโบราณเคียงคู่บุญมากับมหากาพย์รามายณะ หรือรามเกียรติ์ (อ่าน รหัสลับ "รามเกียรติ์") บ้านเรานั้นเอง มหากาพย์สองเรื่องนี้ไม่ใช่วรรณกรรมทั่วๆไป แต่จัดเป็นคัมภรีศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดูเลยทีเดียว กล่าวกันว่าใครอ่านคำภีร์สองเล่มนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ล้างบาปได้!!

สำหรับคนไทยแล้วอาจมีความคุ้นเคยกับเรื่องมหาภารตะน้อยกว่ารามเกียรติ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว 2 เรื่องยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน


นักวิชาการทางประวัติศาสตร์บางสำนัก ให้ความเห็นว่า เรื่องมหาภารตะนี้มีเค้าโครงจากเรื่องจริงในอดีต บ้างก็ว่าเป็นแค่เรื่องแต่ง เนื้อเรื่องว่าด้วยสงครามระหว่างพี่น้องวงศ์กษัตริย์เลือดเนื้อเชื้อไขบรรพบุรุษเดียวกันคือ พวกปาณฑพ(ปาน-ดบ) และ พวกเการพ(เกา-รบ) ปมแห่งความขัดแย้งได้ก่อตัวสะสมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กเล็กจนถึงโตเป็นกษัตริย์ปกบ้านครองเมือง ต้นเหตุหลักๆของเรื่องก็ไม่พ้นเรื่องคลาสสิคแห่งการเกิดสงครามทั่วๆไปคือ ความขัดแย้งเชิงอำนาจ ผลประโยชน์ ความริษยา การชิงดีชิงเด่น และปลีกย่อยๆประกอบอย่าง ผู้หญิง การพนัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเรื่องก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ญาติผู้ใหญ่พยายามหาทางออกทุกทางเพื่อให้ความขัดแย้งได้คลี่คลาย แต่ก็ล้มเหลว เนื่องจากความขัดแย้ง สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลข้ออ้างที่ยากจะกล่าวได้ว่าฝ่ายใดผิดถูกไปกว่ากัน พวกบรรดาญาติสนิทมิตรสหายประชาชนก็แตกแยกเลือกข้างกันไป และแล้วสถานการณ์ได้ยืดเยื้อมาจนถึงจุดที่มิอาจประณีประนอมสมานฉันท์อะไรกันได้อีกต่อไป ... สงครามเท่านั้น คือทางออก!!


แต่ก็มีบางคนไม่ได้เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและไม่เข้าร่วมสงคราม อาทิ ท่านพลราม ... พลราม เป็นญาติผู้ใหญ่ของคู่กรณีทั้งสองฝั่ง ช่วงที่ทั้งฝ่ายทำสงครามประหัตประหารกันนั้น พลราม เลือกที่จะปลีกวิเวก เดินทางท่องเที่ยว ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวใดๆทั้งสิ้น น่าคิดว่าเหตุใด พลราม ไม่เลือกร่วมกะข้างใดข้างหนึ่งเหมือนคนอื่นๆ พลราม เป็นผู้มีความเที่ยงธรรม ไม่นิยมสงคราม ? เป็นพวกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ? หรือเป็นนักฉวยโอกาสหมายรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ? หรือเป็นพวกเห็นแก่ตัว-ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ? หรือเห็นว่าทั้งสองฝ่ายแย่พอๆกันเลยไม่อยากยุ่งเกี่ยวเปลืองตัว ? หรือไม่กระจ่างในสถานะการณ์เลยตัดสินใจไม่ได้ไม่รู้จะเลือกฝั่งไหนดี ? หรืออื่นๆ ฯลฯ ก็ประเมินกันไป สุดท้ายคงมีแต่ตัวพลรามเองเท่านั้นที่รู้ดีกว่าใคร ... ไม่แน่พลรามอาจเป็นกลางจริงๆ หรืออาจจะเชียร์ฝั่งใดฝั่งหนึ่งอยู่ในใจก็ได้ ... แต่ไว้ว่ายังไงก็ต้องเคารพสิทธิ์ในการเลือกของพลราม


ประเด็นที่น่าพิจารณาอีกอย่าง คือ แล้วพวกที่เข้าร่วมกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งใดล่ะ พวกเขาเข้าไปร่วมเพราะเหตุใด เพราะมีความเข้าใจในสถานะการณ์ถ่องแท้แยกแยะถูกผิดได้ทะลุปรุโปร่งเลย จึงต้องการต่อสู้เพื่อผดุงความถูกต้องชอบธรรมจริงๆ ? หรือก็แค่เพราะว่าเห็นแก่เงินรับที่ถูกว่าจ้างมา หรืออาจเล็งเห็นผลประโยชน์ส่วนตนบางอย่างจึงเข้าร่วม ? หรือเผอิญทำงานเป็นบ่าวอยู่กับฝั่งใดฝั่งหนึ่งอยู่ก่อนแล้วจึงตกกระไดพลอยโจร นายสั่งไปไหนทำอะไรก็ว่าตามนั้น ? ฯลฯ

ท้องเรื่อง สองฝ่ายก็ได้รบพุ่งประจัญบานกันที่ทุ่งกุรุเกษตร เป็นเวลาถึง 18 วัน
ผลคือ ฝ่ายพี่น้องปาณฑพ ได้รับชัยชนะ

ผลของสงคราม คือ
พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ หลานฆ่าอา
ลุงฆ่าหลาน ลูกศิษย์ฆ่าอาจารย์
เพื่อนฆ่าเพื่อน ญาติฆ่าญาติ
ตายกันแบบยกโคตรแทบจะสูญพันธุ์ (Holocaust)!!


และคนที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในกองทัพข้างฝ่ายชนะ ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ "ท่านกฤษณะ" ชาวฮินดูได้ยกย่องและให้ความเคารพสูงสุดในฐานะ องค์อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ที่เรียกว่า "กฤษณาวตาร"

นอกจากนี้แล้วบทสนทนาอันแฝงไปด้วยปรัชญาลึกซึ้งในเชิงการให้กำลังใจและส่งเสริมความฮึกเหิมในการทำสงคราม ของท่านกฤษณะที่ได้เทศนาต่อ พี่น้องปาณฑพตัวเอกคนหนึ่งนามว่า "อรชุน" ที่ครั้นเมื่อเริ่มสงคราม จู่ๆดันเกิดอาการท้อแท้หดหู่ไม่อยากออกรบ ด้วยเห็นว่าคนที่ตนต้องทำสงครามด้วยนั้นล้วนเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันทั้งสิ้น ... ต่อมาบทสนทนานี้ ได้ถูกจัดให้เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ชื่อว่า. . .

"ภควัทคีตา" (บทเพลงของพระเจ้า)

- คัมภรีนี้มีความสำคัญมาก มหาตามะคานธีให้ความนับถือพระกฤษณะอย่างสูงสุดและนำภัควัทคีตานี้มาอ่านอยู่เนืองนิจเมื่อยามท้อแท้ไม่มีกำลังใจต่อสู้ ในช่วงเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

-
และยังร่ำลือกันว่า ฮิตเลอร์ ได้แจกคำภีร์นี้ให้กองทัพนาซีอ่านปลุกใจ ช่วงที่ทำสงครามโลกครั้งที่สอง

-
 อย่างในไทยเรา น้าแอ็ด คาราบาว ก็อ่านคำภีร์เล่มนี้เกิดความประท้บ ถึงกับนำมาแต่งเพลง ชื่อ ภควัทคีตา ตัวอย่างเนื้อหาของ ภควัทคีตา ในสำนวนเนื้อเพลงของ น้าแอ็ด คาราบาว"รบเถิด อรชุน หากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ยังรอท่านอยู่ ยังเปิดประตูรอผู้ปราชัย แม้นหากว่าท่านชนะความเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ ทุกพงพื้นปฐพีรอให้ท่านเข้ามาครอบครอง"


มีนักคิดท่านหนึ่งให้ทรรศนะอันเป็นมุมมองที่ค่อนข้างแรง...แต่น่าสนใจมาก ว่า. . . "แท้จริงแล้ว ภควัทคีตา ก็แค่การพร่ำเพ้อปรัชญาไร้สาระ ที่สร้างขึ้นเพื่อกล่อมคนหัวอ่อนไม่มีความคิด ชักจูงไปในทางให้นิยมแก้ปัญหาด้วยวิธีรุนแรง การฆ่าฟันทำสงคราม แถมยังหลอกให้เชื่อว่า...เมื่อทำสงครามฆ่าคนตายเป็นเบือเพื่อความถูกต้องแล้ว แม้ตายก็จะได้บุญขึ้นสวรรค์ และภัควัทคีตานี้แหละเป็นรากเหง้าของ การทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ สงครามของพระเจ้า และการก่อการร้ายต่างๆ ภัควัทคีตานี้แหละคือ มิจฉาทิฏฐิ(ทัศนะอันตราย!)ตัวจริง ซึ่งขัดกับหลักของพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง ที่สอนให้มีเมตตา อหิงสา(ไม่เบียดเบียน) ทั้งควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทั้งปวง

แต่ก็สามารถมองในแง่ดีอีกมุมได้ว่า "ภควัทคีตา" เป็นสุดยอดแห่งคัมภีร์ที่มีศิลปะการประพันธ์และจิตวิทยาชั้นสูงในการปลุกเร้าคน ให้สู้ชีวิต, ให้สู้สิ่งยาก, ฝ่าฟันอุปสรรค์, จะสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลก อย่าสักแต่ใช้ชีวิตท้อแท้แบบซังกะตายไปวันๆ...ถึงแม้ในที่สุดมันไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องเสียใจอะไร จงภูมิใจว่าเราได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว...(หากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ยังรอท่านอยู่ ยังเปิดประตูรอผู้ปราชัย) แล้วถ้าทำทำสำเร็จ แน่นอนท่านคือ ผู้พิชิต! ท่านจะรับผลแห่งความสำเร็จนั้น...(แม้นหากว่าท่านชนะความเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ ทุกพงพื้นปฐพีรอให้ท่านเข้ามาครอบครอง)

"มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่มักมีปมปริศนาให้ตีความได้หลายมุมเสมอ นี่แหละคือเสน่ห์ของมหากาพย์"

" รบเถิด อรชุน "


- - - - -

4 ความคิดเห็น:

  1. ครับผมว่าเวลานี้ผมคงต้องไปหาอ่าบ้างแล้วครับเพราะธุรกิของผมตอนนี้โดนหางเลขซึนามิทางเศรฐกิจเข้าเต็เปาเลยครับแต่แทนที่จะท้อแท้หมดหวัง ต้องลุกขึ้นสู้จะดีกว่าใช่มั๊ยครับ รบเถิดอรชุน!

    ตอบลบ
  2. ตอนนี้มีละครเข้าฉายทางช่อง jkn อยู่แต่ผมก็ไม่ค่อยได้ดูนัก ผมชอบเรื่องของอรชุนมาก และแน่นอนบทเทศนาที่ชื่อว่า "ภควัทคีตา"เป็นปรัชญาให้ชวนคิด...

    ตอบลบ
  3. รบเถิดอรชุน โลกของผู้ชนะได้ทุกอย่าง หรือ โลกของการแบ่งปัน อะไรคือธรรม

    ตอบลบ