วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

สถาปนา หุ่นยนต์ !

ฉากตอนกำลังพัฒนา "หุ่นยนต์" ในภาพยนตร์เรื่อง "Bicentennial Man"

ปี 1921 นักประพันธ์ชาวเชคโกสโลวาเกีย "Karel Capek" ได้เขียนบทละครเชิงสะท้อนชีวิตในสังคมอุตสาหกรรมในยุคนั้น เรื่อง R.U.R. หรือ Rossum's Universal Robots โดยมีคำว่า "Robot" หรือ "Robota" ซึ่งภาษาเชคแปลว่า "tedios labor" หรือ "forced labor" อันหมายถึง ผู้ถูกบังคับให้ทำงาน หรือ ทาส! นั้นเอง... Robot ในเรื่องของ Capek ก็คือสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะเป็นมนุษย์เทียม มีแขน มีขา สามารถทำงานได้มากกว่ามนุษย์ธรรมดา 2 เท่า มีพลังมากกว่ามนุษย์ 2 เท่า จุดประสงค์หลักในการสร้าง Robot ก็เพื่อรับใช้มนุษย์นั้นเอง เพราะเหตุที่งานบางงานเป็นงานที่หนักเกินพละกำลังมนุษย์ บางงานเป็นงานที่ซ้ำๆซากๆจำเจน่าเบื่อ และมีอีกหลายงานที่ต้องอาศัยความประณีตแม่นยำสูง แถมบางงานยังมีอันตรายต้องเสี่ยงชีวิต...Robot จึงเป็น ทาส! ในฝันที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด!! ที่น่าคิดคือ หากหุ่นยนต์ทำงานต่างๆแทนมนุษย์ได้เกือบทั้งหมดแล้ว มนุษย์จะเอาเวลาที่มีเหลือเพิ่มขึ้นนั้นไปทำอะไรต่อดี...(ในหนัง การ์ตูนอนิเมชั่น เรื่อง "Wall-E" จะเห็นวิถีชีวิตมนุษย์ในยุคที่หุ่นยนต์ทำอะไรแทนไปเสียทุกเรื่องแม้แต่กิจกรรมง่ายๆอย่างอาบน้ำ, แต่งตัว, แปรงฟัน!)

ปัจจุบันมนุษย์มอง "หุ่นยนต์" (ทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกแห่งจินตนาการ) ก้าวล้ำเกินกว่าแค่การเป็น "ทาส" หุ่นยนต์เป็นอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง อย่างที่มนุษย์คาดไม่ถึง เป็นเพื่อน, เป็นอาจารย์, เป็นดารา, เป็นฮีโร่พิทักษ์โลก, แม้แต่เป็นสามี!(ในหนัง Bicentennial Man) หรือมองในแง่ร้ายในอนาคต หุ่นยนต์ อาจครอบครองโลกเป็นนายเหนือหัวปกครองมวลมนุษย์!!

หุ่นยนต์ครองโลกและใช้ร่างกายมนุษย์เป็นแหล่งพลังงานตั้งแต่ยังเป็นทารก ในหนัง The Matrix

เท่าที่สังเกต หุ่นยนต์มีประมาณ 6 ประเภท (หากมีมากกว่านี้ช่วยบอกด้วยนะครับ).

1. Robot : หุ่นยนต์พื้นฐานที่คุ้นเคยกันดีที่สุด นั้นคือหุ่นที่มีกลไกสามารถแสดงอากัปกริยาคล้ายคนหรือสัตว์ได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ่น "Asimo" หรือเจ้าหมา "Aibo" หุ่นยนต์ทั่วๆไปในหนังการ์ตูน ภาพยนตร์ และของเล่นไฮเทคต่างๆ (จริงๆแล้ว สิ่งประดิษฐ์พวกเครื่องจักรกล, อุปกรณ์, พาหนะ, เทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ ที่เราใช้งานกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งที่ใช้ในบ้าน ในองค์กรออฟฟิต หรือโรงงาน ก็จัดเป็น "Robot" ชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่เรามักคุ้นกับคำ "Robot" ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์อันมีรูปร่างมีแขนขาหรือมีพฤติกรรมการแสดงออกคล้ายคน-สัตว์ มากกว่า)

2. Cyborg : ครึ่งคนครี่งหุ่นยนต์ บางทีก็เรียกกันว่า..."มนุษย์ไซบอร์ก" นั้นคือร่างกายเป็นคนธรรมชาติแต่มีส่วนผสมกับประดิษฐกรรมจักรกล-ดิจิตอล ฯลฯ ทำงานร่วมกันในร่างเดียว "ไซบอร์ก"ไม่ได้อยู่แค่จินตนาการอีกต่อไป เพราะในโลกแห่งความจริงได้ ได้มี "ไซบอร์ก" เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว...อาทิ แค่คุณมี ไตเทียม, แขนขาแบบมีกลไกพิเศษ ก็จัดว่า "Cyborg" ได้แล้วนะ! (จะเข้มข้นมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมี กลไกประดิษฐ์ในร่างกายมากน้อยแค่ไหน) อย่าง "Darth Vader" ของเราในมหากาพย์ Starwars จัดว่าเป็น Cyborg เต็มขั้น หรือในหนังการ์ตูนเรื่อง Cobra ที่พระเอกมีแขนเป็น ปืน ก็เรียกว่า ไซบอร์ก ได้เช่นกัน สุดยอดการ์ตูนเอเชีย DragonBall Z ก็มีมนุษย์ไซบอร์ก อย่าง ฟรีซเซอร์ร่างCyborg, ดร.เกโร่, หมายเลย 13 ,14 เป็นต้น .; )

นี้คือมนุษย์ "ไซบอร์ก" ของจริงไม่ได้อิงนิยาย

3. Android : หุ่นยนต์ที่ภายนอกเหมือนมนุษย์ทุกประการ เมื่ออยู่ร่วมปะปนกันกับคนแล้ว ไม่สามารถแยกแยะออกได้เลยว่า อันไหนเป็นคน(รวมทั้ง Android ที่เป็นสัตว์ด้วย)อันไหนหุ่นยนต์กันแน่!...สามารถสื่อสารพูดคุยตอบโต้ แสดงแสดงอาการต่างๆได้เหมือนมนุษย์ทุกประการ แต่ติดที่ว่าเป็นเพียงหุ่นยนต์ไม่มีชีวิตจิตวิญญาณ "Android" นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่มนุษยชาติใฝ่ฝันถึง!... "Android" ปรากฏอยู่ในนวนิยายและภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ Alien, Blade Runner, Bicentennial Man, Terminator, และ A.i. เป็นต้น

Android สาวใช้ จากภาพยนตร์ A.i.

4. หุ่นยนต์ที่ มีคนอยู่ข้างใน : อาจเป็นลักษณะหุ่นยนต์ตัวใหญ่ต้องมีคนเข้าไปบังคับข้างในถึงจะทำงานได้ อาทิ "Gundam" หรือ เป็นลักษณะคนสวมเกราะทั้งร่างกลายเป็นหุ่นยนต์ชนิดพิเศษอย่าง "iron Man"

iron Man

Gundam

5. หุ่นยนต์ที่มีวิญญาณ
(ไม่น่าจะเรียกว่าหุ่นยนต์?) ก็คือร่างภายนอกมีลักษณะเป็นหุ่นยนต์ประกอบด้วยแขนขาอันเป็นวัสดุต่างๆ เหล็ก พลาสติก ฟันเฟือง กลไกดิจิตอล ฯลฯเยี่ยงหุ่นยนต์ แต่กลับมีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ มีปัญญา มีจิดวิญญาณ และไม่ได้ถูกโปรแกรมหรือสร้างขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดในร่างของหุ่นยนต์ หุ่นประเภทนี้เห็นได้ชัดในหนังเรื่อง Transformers จริงๆแล้วไม่สมควรเรียกว่า"หุ่นยนต๋"เลยนะ แต่ทำไงได้ ก็รูปร่างหน้าตามันเหมือน...

สิ่งมีชีวิตจากดาวCybertron มาเยือนโลกในคราบหุ่นยนต์ : Transformers

6. ไม่รู้จะเรียกชื่อยังไงดี!!...เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีรูปร่างที่เลียนแบบมนุษย์หรือสัตว์เลย เป็นกลไกนามธรรมมาก อาจจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ กระแสไฟฟ้า หรือปัญญาประดิษฐ์อะไรซักอย่าง(ที่ไม่ใช่ วิญญาณหรือจิตใจ แต่เป็นสิ่งกลไกทางวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น) สามารถตอบโต้พูดคุยกับมนุษย์ได้ ถึงแม้จะถูกความคุมการทำงานโดยการสั่งการของมนุษย์ แต่ก็สามารถตัดสินใจที่จะริเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองได้โดยผ่านระบบที่ตัวมันเองเชื่อมโยงอยู่ หุ่นยนต์ชนิดนี้เท่าที่เห็นมีปรากฎใน นวนิยายและภาพยนตร์ เรื่อง "2001 A Space Odyssey " ประพันธ์โดยสุดยอดปรมาจารย์วงการนิยายวิทยาศาสตร์ นาม "Arthur C. Clarke" ประมาณว่าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของยานทั้งลำ มีชื่อเรียกในเรื่องว่า Mr."HAL 9000" นักบินอวกาศจะติดต่อกับเจ้า HAL 9000 อย่างเป็นทางการ โดยผ่านการพูด สนทนา เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือสั่งการใดๆที่บริเวณดวงไฟสีแดงภายในยาน ซึ่งดวงไฟสีแดงนี้เป็นทั้งตา หู และปากของ HAL 9000 !! แต่ถ้าดูในหนัง จะพบว่า นักบินอวกาศสามารถติดสื่อสารกับ HAL 9000 ที่ไหนก็ได้ทั้งภายในยานหรือแม้แต่ภายนอกยาน ที่สุดยอดกว่านั้นคือ ตอนที่ นักบินอวกาศจะปิดการทำงาน HAL 9000 เนื่องจาก HAL ผิดพลาดร้ายแรง!.... HAL พูด(ผ่านลำโพงในยาน)ว่า "ผมกลัว อย่าปิดนะ เราเจรจากันได้" {พิลึกกึกกือจริงๆ ถ้าไม่เคยดู ลองหาหนังมาดูนะครับ "2001 A Space Odyssey (หนังเก่าปี 1968 แต่คลาสิคตลอดกาล)" }

เจ้า HAL 9000 ใน "2001 A Space Odyssey "

เมื่อพูดถึงเรื่อง หุ่นยนต์แล้วก็ต้องอ้างถึง กฎคลาสสิค 3 ข้อของหุ่นยนต์ (Three Laws of Robotics) ที่สุดยอดปรมาจารย์นิยายวิทยาศาสตร์อีกท่าน "ไอแซก อาซิมอฟ" (Isaac Asimov) ได้บัญญัติไว้ ในนวนิยายของเขา ในชุด The Foundation, i Robot และ Bicentennail Man ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าใครเคยดู ภาพยนตร์ i Robot น่าจะจำกันได้ดี กฏ 3 ข้อนี้ถูกกล่าวขึ้น ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องเลย

isaac Asimov

กฏข้อ 1.
หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้ที่เป็นมนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้(A robot may not harm a human being, or, through inaction, allow a human being to come to harm.)

กฏข้อ 2. หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก(A robot must obey the orders given to it by human beings, except where such orders would conflict with the First Law.)

กฏข้อ 3. หุ่นยนต์ต้องปกป้องสถานะความมีตัวตนของตนไว้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง(A robot must protect its own existence, as long as such protection does not conflict with the First or Second Law.)

ต่อมาในนิยายภาคหลังๆเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ในวงกว้างและลึกมากขึ้นไปอีก จึงได้มีการเพิ่ม กฎข้อ 0 ลงไป คือ...

กฏข้อ 0. หุ่นยนต์มิอาจกระทำการอันตรายต่อมนุษยชาติ หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษยชาติตกอยู่ในอันตรายได้(A robot may not injure humanity, or, through inaction, allow humanity to come to harm.)โดยการกระทำตามกฎข้อ 1, 2 และ 3 จะต้องไม่ขัดกับกฎข้อ 0 นี้...สิ่งที่เพิ่มเติมจากกฏ 3 ข้อเดิมก็แค่คำ "Humanity" มนุษยชาติ-เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวล

นวัตกรรมหุ่นยนต์ ภาพยนตร์ i Robot

สำหรับกฏทั้ง 3+1 ข้อนี้ จะเห็นว่า หุ่นยนต์มิอาจทำร้ายมนุษย์ได้เลย เพราะเงื่อนไขระหว่างกฎข้อต่างๆได้บล๊อคหุ่นยนต์ในการทำอันตรายต่อมนุษย์ไว้หมดแล้ว และในกรณีของการดูแลปกป้องมนุษย์ให้พ้นอันตรายหากเป็นเหตุการณ์ทั่วๆไปหุ่นยนต์ก็คงปฎิบัติงานได้ง่ายดายไม่มีปัญหา...แต่ถ้าเกิดเหตุกรณีมนุษย์ทำร้ายมนุษย์กันเองจะด้วยเหตุอันใดก็ตามที อาจจะเป็นโจรมาปล้น ฆ่าข่มขืน ทะเลาะวิวาท หรือ สงคราม! ฯลฯ ยังสงสัยอยู่ว่ากรณีนี้หุ่นยนต์ที่อยู่ในเหตุการณ์จะทำอย่างไร? มนุษย์ที่กำลังต่อสู้ป้องกันตัว-ทำร้ายกันแต่ละฝ่ายอาจสั่งให้หุ่นยนต์ของตนทำการปกป้องหรือต่อสู้เพื่อตน โดยสั่งให้หุ่นยนต์ไปกำจัดหรือทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ! หุ่นยนต์คงได้แต่นิ่งด้วยความสับสนมึนงง! เครื่องแฮงค์ไปเลย...เพราะ

- ถ้าหุ่นยนต์ช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะเกิดการขัดแย้งผิดกฎ ตีกันไปๆมาๆระหว่างกฏ 1.และ2., 2.และ1. รวมทั้งกฎข้ออื่นๆ(ลองย้อนไปพิจารณาดู) นั้นคือ ถ้าเชื่อฟังมนุษย์อันเป็นเจ้าของตน ก็มีโอกาสที่จะทำร้ายหรือทำให้มนุษย์อีกฝ่ายได้รับอันตรายบาดเจ็บได้

- กรณีถ้าไม่ช่วย ก็จะขัดแย้งผิดกฏข้อ 2., 1. และกฎที่เหลือเหมือนเดิม เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งมนุษย์และปล่อยให้อยู่มนุษย์อยู่ในอันตราย จะมีทางออกใดบ้างให้หุ่นยนต์?

และข้อสังเกตอีกอย่าง ในกรณี กฎข้อที่ 3. หากมนุษย์พาลจะกลั่นแกล้ง-ทุบตีทำร้ายหุ่นยนต์โดยตรง สมมุติหุ่น Android เพศเมีย มนุษย์วิปริตบางคนอาจเกิดทะลึ่งจะลวนลาม-ข่มขืน! (คิดไปนั้น) หุ่นยนต์จะทำยังไง? จะต่อสู้-ตอบโต้ให้เจ็บตัวก็ไม่ได้ เพราะ กฎ ทุกข้อ ได้บล็อกการตอบโต้มนุษย์ไว้เสียขนาดนั้น เห็นทีคงต้องหนีเอาตัวรอดท่าเดียว หรือถ้าหนีไม่ทันก็ต้องนิ่งเลยตามเลย (แต่ในหนัง อย่าง "i robot" หุ่นยนต์ก็หายึดกฎเคร่งครัดไม่ เนื่องจากเห็นว่ามนุษยชาติเชื่อถือไม่ได้ แหลวแหลกเกินเยียวยา จึงทำการกบฏ! ยึดอำนาจ ปกครองมนุษย์เสียเลย!)

หน้าปก นวนิยายวิทยาศาสตร์ สถาบันสถาปนา (ฉบับภาษาไทย) เล่ม 1

กฏของหุ่นยนต์ 3ข้อ และกฏข้อ 0 นี้เอง ในนิวนิยายวิทยาศาสตร์ชุด สถาบันสถาปนา (The Foundation) ภาคหลังๆของ อาซิมอฟ ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญส่งผลให้ หุ่นยนต์ เกิดการแตกแยกแบ่งข้างเป็น 2 พวก คือพวกหนึ่งยึดถือกฏ 3 ข้อ อีกพวก ยึดข้อเดียวคือข้อ 0 เรืยกว่าเป็นการแบ่งนิกายศาสนาของพวกหุ่นยนต์เลยทีเดียว !

นวนิยายชุด สถาบันสถาปนา นี้จัดว่าเป็นสุดยอดมหากาพย์ ไซ-ไฟ แห่งยุค ด้วยจินตนาการอันบรรเจิดในเรื่องราวของ "หุ่นยนต์" กับความเป็นอยู่ของมนุษย์แห่งโลกอนาคต ผนวกกับการสะท้อนแง่คิดตรรกะ-ความเป็นจริงในสังคมมนุษย์ปัจจุบันในหลายๆด้านอย่างแยบยล ไม่ว่าจะด้านสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, กลยุทธ์, สงคราม, การพาณิชย์, ศิลปะ, ปรัชญา...ฯลฯ หากมีโอกาส-มีเวลา ลองหามาเสพดูนะครับ ยังมี สาระ-บันเทิง ที่แฝงอยู่ในนวนิยายชุดนี้อีกเยอะเลย...รับรองว่าซี๊ดด! :)

.......................................................................

- ภาคผนวก -

หนังสือมหากาพย์ ไซ-ไฟ ชุด "สถาบันสถาปนา" 10 เล่นจบ(หนัก-หนาเอาการ) ฉบับแปลภาษาไทย มีครบแล้ว โดยสำนักพิมพ์ ProVision ถ้าหาซื้อในตลาดไม่ได้ สามารถโทรไปสั่งซื้อได้ทาง webได้ เขามีบริการจัดส่งให้ถึงบ้าน คลิก >> http://www2.provision.co.th/index.php?option=com_virtuemart&page=shop.browse&category_id=15&Itemid=31

2 ความคิดเห็น:

  1. Nice work. I came across your blog while “blog surfing” using the Next Blog button on the blue Nav Bar located at the top of my blogger.com site. I frequently just travel around looking for other blogs which exist on the Internet, and the various, creative ways in which people express themselves. Thanks for sharing.

    ตอบลบ
  2. OK Thanks for visiting.
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ