วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2552

"จงต่อกรกับความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจ" Bill Gates

"Serving people who are suffering from the worst inequities"

สุนทรพจน์ของอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก ที่ยิ่งรวยยิ่งทำบุญ! "Bill Gates"(เจ้าของ Microsoft : ผลิตภัณฑ์ software อย่าง Windows, MS offices, MSN, Hotmail ที่ทุกคนทั่วโลกต้องมีต้องใช้เป็นมาตรฐานประจำบ้านไปแล้ว) กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วันที่ 7 มิถุนายน 2007

อ่านสุนทรพจน์ของ Gates แล้ว นึกถึง คหบดีใจบุญยุคพุทธกาลท่านหนึ่ง ชื่อ "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" รวยแล้วชอบทำบุญให้ทาน ทั้งให้ทานแก่คนยากจน การถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่างๆนานา จนกระทั้งทรัยพ์สินเงินทองที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ ในที่สุดข้าวที่หุงถวายพระก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำผักเสี้ยนดอง ตนเองก็พลอยอดยากลำบากไปด้วย แต่ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญต่อไป...

ตามหลักกรรมของ พุทธศาสนา แล้ว "เหตุที่คนเกิดมาร่ำรวย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และบริจาคทานด้วยจิตบริสุทธิ์สม่ำเสมอตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือในชาติปัจจุบัน"

ถึงแม้บิล เกตส์ ยังไม่ถึงขั้น ทำบุญจนสมบัติหร่อยหรอย ตนเองต้องพลอยลำบากเยี่ยง อนาถบิณฑิกเศรษฐี (อาจเป็นเพราะ สมบัติเงินทองมีมากกว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี หลายล้านเท่ากระมัง เลยไม่ร่อยหรอง่ายๆ ฮึ ๆ ๆ ) แต่ก็นับว่าเป็นตัวอย่างเศรษฐีที่น่าชื่นชมและให้ความเคารพท่านหนึ่ง ที่รวยแล้วมีสำนึกในการบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ หาหนทางในการลดความไม่เท่าเทียมในสังคม รู้จักหยุดรู้จักพอ...(ไม่เหมือนเศรษฐีบางจำพวกที่ยิ่งรวยกลับยิ่งไม่รู้จักพอ นอกจากไม่คิดช่วยเหลือเผื่อแผ่ซ้ำยิ่งใช้ความรวยเอาเปรียบเบียดเบียนสังคม! หรือไม่ก็มัวแต่สาละวนกับการแข่งวาสนาเบ่งบารมี อิจฉาริษยาเกิดศึกสายเลือดแย่งชิงสมบัติกันเอง...เวร!)

..............................................................

สุนทรพจน์วันรับปริญญาบัณฑิตใหม่ โดย Bill Gates ณ Harvard University
June 11th, 2007.

"ท่านอธิการบดีบ็อค ท่านอดีตอธิการบดีรูเดนสไตน์ ท่านอธิการบดีใหม่เฟาส์ต์ ท่านสมาชิกสภาฮาร์วาร์ด สภาตรวจสอบ คณาจารย์ ผู้ปกครอง และโดยเฉพาะบัณฑิตทุกคนในที่นี้

ผมรอนานกว่า 30 ปีเพื่อจะพูดว่า “พ่อครับ ผมบอกพ่อเสมอว่าผมจะกลับมาเรียนให้จบ”

ผมอยากขอบคุณฮาร์วาร์ดสำหรับเกียรติประวัติที่มาถูกเวลาในครั้งนี้ ผมกำลังจะเปลี่ยนงานในปีหน้า และก็เป็นเรื่องดีที่จะมีปริญญาตรีบนประวัติย่อของผมเสียที

ผมชื่นชมบัณฑิตทั้งหลายในวันนี้ที่เดินทางสายตรงกว่าผมในการไขว่คว้าปริญญา สำหรับตัวผมเอง ผมแค่มีความสุขที่ เดอะ คริมสัน (The Harvard Crimson : หนังสือพิมพ์นักศึกษาประจำมหาวิทยาลัย) เรียกผมว่า “ดร็อปเอ้าท์ผู้ประสบความสำเร็จที่สุดของฮาร์วาร์ด” ผมว่าตำแหน่งนี้ทำให้ผมเป็นตัวแทนนักเรียนรุ่นพิเศษ…ผมประสบความสำเร็จที่สุดในบรรดานักเรียนที่เรียนไม่จบ

แต่ผมก็อยากให้คนรู้จักผมด้วยในฐานะคนที่หว่านล้อมให้ สตีฟ บาลเมอร์(เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft กับ คนสำคัญ) ลาออกกลางคันระหว่างเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ผมเป็นอิทธิพลที่แย่มากๆ นั่นคือเหตุผลที่มหาวิทยาลัยเชิญผมมาพูดในงานรับปริญญาของพวกคุณ ถ้าผมพูดในงานรับน้องใหม่ ป่านนี้พวกคุณหลายคนก็คงไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้

ฮาร์วาร์ดเป็นประสบการณ์อันมหัศจรรย์มากสำหรับผม ผมพบว่าชีวิตในโลกวิชาการนั้นมีเสน่ห์ ผมเคยไปนั่งฟังเลคเชอร์หลายวิชาที่ผมไม่ได้ลงทะเบียน และชีวิตในหอพักก็สุดยอด ตอนนั้นผมอยู่หอเคอร์เรียร์ (Currier House) ซึ่งอยู่ในบริเวณของวิทยาลัยแรดคลิฟ ตอนกลางคืนดึกๆ หลายคนจะมานั่งคุยกันในห้องผม เพราะทุกคนรู้ว่าผมไม่เคยห่วงว่าจะตื่นเช้าไม่ได้ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมผมกลายเป็นผู้นำของกลุ่มคนที่ไม่เข้าสังคม เราเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างเหตุผลให้กับการที่เราไม่คบกับพวกที่เข้าสังคมเก่งๆ

แรดคลิฟเป็นถิ่นที่น่าอยู่มากๆ เพราะมีผู้หญิงอยู่แถวนั้นมากกว่า แล้วนักเรียนชายแถวนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเก่งวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ สองอย่างนี้รวมกันทำให้ผมมีโอกาสดีที่สุด พวกคุณคงรู้ว่าผมหมายถึงอะไร นั่นคือจุดที่ผมได้รับบทเรียนอันน่าเศร้าว่า การปรับปรุงแต้มต่อของคุณไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จ

หนึ่งในความทรงจำที่แจ่มชัดที่สุดของผมเกี่ยวกับฮาร์วาร์ดเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 1975 เมื่อผมหมุนโทรศัพท์จากหอ ไปหาบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองอัลบูเคอร์คี (Albuquerque) ที่กำลังเริ่มผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกๆ ของโลก ผมโทรไปเสนอขายโปรแกรมให้พวกเขา

ผมกังวลว่าพวกเขาจะวางหูเมื่อรู้ว่าผมเป็นแค่นักเรียนที่โทรมาจากหอ แต่พวกเขาก็บอกผมแค่ “เรายังไม่พร้อม อีกเดือนนึงค่อยมาหาเรา” ซึ่งนั่นก็เป็นข่าวดี เพราะเรายังไม่ได้เริ่มเขียนโปรแกรมอะไรเลย นับจากวันนั้น ผมทำงานทั้งวันทั้งคืนกับโครงการพิเศษเล็กๆ ชิ้นนี้ ที่กลายเป็นจุดจบของการศึกษาในมหาวิทยาลัยของผม และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนวิเศษกับไมโครซอฟท์

สิ่งที่ผมจำได้แม่นยำที่สุดเกี่ยวกับฮาร์วาร์ด คือการได้อยู่ท่ามกลางพลังงานและพลังสมองอันมหาศาล มันทำให้ผมรู้สึกมีชีวิตชีวา ประหม่า และบางครั้งก็ท้อแท้ แต่ไม่เคยหยุดท้าทาย มันเป็นสิทธิพิเศษอันน่าทึ่ง และถึงแม้ว่าผมจะออกจากโรงเรียนกลางคัน ประสบการณ์ในฮาร์วาร์ด มิตรภาพที่ผมสร้าง และไอเดียต่างๆ ที่ผมค้นคว้าระหว่างเรียนหนังสือก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวผมไป

แต่เมื่อหวนนึกถึงช่วงเวลานั้นอย่างจริงจัง … ผมก็มีเรื่องเสียดายมากๆ เรื่องหนึ่ง

ผมออกจากฮาร์วาร์ดโดยไม่เคยตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันอันร้ายแรงในโลกนี้ ความเหลื่อมล้ำอันน่าตระหนกของสุขภาพ ความร่ำรวย และโอกาสอันกดทับให้คนหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง ฮาร์วาร์ดสอนผมมากมายเกี่ยวกับไอเดียใหม่ๆ ในเศรษฐศาสตร์และการเมือง ผมได้รับรู้เรื่องราวของความก้าวหน้าใหม่ๆ ในแวดวงวิทยาศาสตร์

แต่ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติไม่ได้อยู่ที่การค้นพบใหม่ๆ หากอยู่ที่การใช้การค้นพบเหล่านั้นในทางที่ช่วยลดทอนความไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การศึกษาภาครัฐที่เข้มแข็ง ระบบประกันสุขภาพที่ได้คุณภาพ หรือด้วยการมอบโอกาสทางเศรษฐกิจ การลดระดับความไม่เท่าเทียมในโลก คือความสำเร็จอันสูงสุดของมนุษย์

ผมออกจากมหาวิทยาลัยโดยแทบไม่รู้เลยว่า เยาวชนหลายล้านคนถูกโกงโอกาสด้านการศึกษาในประเทศของเรานี่เอง และผมก็ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนหลายล้านคนที่อยู่กับความแร้นแค้นเหนือคำบรรยายและโรคร้ายต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา เวลาผ่านไปหลายสิบปี กว่าผมจะรู้เรื่องนี้

น้องๆ บัณฑิตทุกคนมาเรียนที่ฮาร์วาร์ดในยุคที่ไม่เหมือนเดิม พวกคุณรู้ดีเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในโลกของเรา มากกว่านักเรียนรุ่นก่อนๆ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ผมหวังว่าพวกคุณจะได้มีโอกาสระลึกได้ว่า ในยุคของเราที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เรามีพร้อมแล้วทั้งโอกาส และความสามารถที่จะจัดการและกำจัดความไม่เท่าเทียมกันเหล่านั้น

ลองคิดดูว่า ถ้าคุณมีเวลาว่างไม่กี่ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์ และมีเงินไม่กี่เหรียญต่อเดือนที่จะอุทิศให้กับการช่วยสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง และคุณก็อยากใช้เวลาและเงินไปกับสิ่งที่จะทำความแตกต่างให้มากที่สุดในการช่วยชีวิตและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน คุณจะเอาเวลาและเงินไปทำอะไร?

ผมและเมลินดา(ภรรยา)ก็เผชิญกับความท้าทายข้อเดียวกัน มีวิธีใดบ้างที่ทำให้เราสามารถช่วยคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่?

ระหว่างที่เราคุยกันเรื่องคำถามข้อนี้ เมลินดากับผมก็ได้อ่านบทความเกี่ยวกับเด็กจำนวนหลายล้านคนในประเทศยากจนที่ตายทุกปีจากโรคร้ายที่ไม่เป็นพิษภัยมานานแล้วในประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัด มาเลเรีย ปอดบวม ตับอักเสบ และไข้เหลือง โรคชนิดหนึ่งที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนคือ rotavirus กำลังคร่าชีวิตเด็กๆ กว่าครึ่งล้านคนในแต่ละปี ในจำนวนนี้ไม่มีเด็กอเมริกันแม้แต่หนึ่งคน

เราทั้งคู่รู้สึกช็อคมาก เราเคยคิดเอาเองว่า ถ้าเด็กหลายล้านคนกำลังจะตาย และมีหนทางที่จะช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้ โลกของเราก็ต้องให้ความสำคัญกับการค้นพบและนำส่งยาไปช่วยชีวิตพวกเขาเป็นอันดับแรก แต่โลกของเราไม่ได้ทำแบบนี้ มีวิธีการมากมายที่มีต้นทุนต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐที่จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ แต่กลับไม่มีใครใช้

ถ้าคุณคิดว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน มันก็เป็นเรื่องน่าสะอิดสะเอียนมากๆที่ได้รู้ว่า มีคนมองชีวิตคนบางคนว่า คุ้มค่า ที่จะช่วยเหลือ และมองว่าอีกหลายคน ไม่คุ้มค่า เราบอกตัวเองว่า “เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็สมควรเป็นเป้าหมายหลักของการให้ของเรา”

ดังนั้นเราจึงเริ่มงานของเราจากจุดเดียวกับทุกคนในที่นี้ คือด้วยการตั้งคำถามว่า “โลกเรากำลังปล่อยให้เด็กๆ เหล่านี้ตายได้อย่างไร?”

คำตอบที่เราค้นพบเป็นคำตอบที่เรียบง่ายและโหดร้าย ระบบตลาดไม่มอบประโยชน์ใดๆ ให้กับการช่วยชีวิตเด็กเหล่านี้ และรัฐบาลทั่วโลกก็ไม่ให้เงินอุดหนุน เด็กๆ จึงต้องตายเพราะพ่อแม่ของพวกเขาไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด และไม่มีสิทธิมีเสียงในระบบ

แต่พวกคุณและผมมีทั้งสองอย่าง

เราสามารถทำให้พลังของตลาดทำงานในทางที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้มากขึ้น ถ้าเราสามารถพัฒนาทุนนิยมที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ถ้าเราสามารถขยับขยายพรมแดนของระบบตลาด ให้คนจำนวนมากกว่าเดิมสามารถทำกำไรได้ หรืออย่างน้อยก็เอาตัวรอดได้ในทางที่ รับใช้ผู้ยากไร้ที่กำลังเดือดร้อนจาก ความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจที่สุด(The worst inequities) นอกจากนั้น เราก็ยังสามารถกดดันรัฐบาลทั่วโลกให้ใช้เงินภาษีไปในทางที่สะท้อนคุณค่าต่างๆ ที่ผู้เสียภาษีเหล่านั้นให้ความสำคัญ อย่างดีขึ้นกว่าเดิม

ถ้าเราสามารถค้นพบวิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ยากไร้ ในทางทำให้ภาคธุรกิจมีกำไร และนักการเมืองได้คะแนนนิยม ก็เท่ากับว่าเราได้ค้นพบ วิถีอันยั่งยืน แห่งการลดระดับความไม่เท่าเทียมกันในโลกนี้ ภารกิจนี้เป็นภารกิจเปิดซึ่งไม่มีวันสิ้นสุด แต่ความพยายามร่วมกันของทุกฝ่ายในการรับมือกับความท้าทายครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงโลก

ผมมองโลกในแง่ดีว่าเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ แต่ผมก็ได้คุยกับคนขี้สงสัยหลายคนที่อ้างว่า เราไม่มีความหวัง พวกเขาบอกว่า “ความไม่เท่าเทียมกันอยู่กับเรามาตั้งแต่แรก และจะอยู่กับเราไปจนถึงจุดจบของสังคมมนุษย์ เพราะคนทั่วไปไม่มีความห่วงใยในเรื่องนี้เลย” แต่ผมไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง

ผมเชื่อว่า เรามีความห่วงใยเกินกว่าความรู้ว่าจะทำอะไรกับมัน

เราทุกคนในสนามแห่งนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ต้องเคยเห็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เราหัวใจสลาย แต่แล้วเราก็ไม่ทำอะไร ไม่ใช่เพราะเราไม่สนใจ แต่เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ถ้าเรารู้ว่าเราจะช่วยได้อย่างไร เราก็จะต้องทำแน่ๆ

สิ่งที่กีดขวางความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ความห่วงใยที่มีไม่พอ หากเป็นความซับซ้อนที่มีมากเกินไป

ก่อนที่เราจะแปลงความห่วงใยให้เป็นการกระทำได้ เราต้องมองเห็นปัญหา มองเห็นวิธีแก้ไข และมองเห็นผลกระทบ แต่ความซับซ้อนต่างๆ กีดขวางขั้นตอนทั้งสามนี้

แม้ว่าตอนนี้เราจะมีอินเทอร์เน็ตและข่าวให้ดูตลอด 24 ชั่วโมง มันก็ยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่จะทำให้คนมองเห็นปัญหาจริงๆ เมื่อไรก็ตามที่เครื่องบินตก เจ้าหน้าที่รัฐก็จัดงานแถลงข่าวทันที เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะสอบสวนหาสาเหตุ และป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาจริงๆ พวกเขาจะพูดว่า “ในบรรดาคนทั้งหมดในโลกนี้ที่ต้องตายในวันนี้จากสาเหตุที่ป้องกันได้ คนจำนวนกึ่งหนึ่งในหนึ่งเปอร์เซ็นต์อยู่ในเครื่องบินลำที่ตก เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหาที่ทำให้คนจำนวนกึ่งหนึ่งในหนึ่งเปอร์เซ็นต์นั้นต้องเสียชีวิต”

ปัญหาที่ใหญ่กว่าไม่ใช่เครื่องบินตก แต่เป็นจำนวนคนตายหลายล้านคนที่ป้องกันได้

เราไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความตายของพวกเขา เพราะสื่อมวลชนนำเสนอเฉพาะข่าวใหม่ๆ คนหลายล้านคนที่กำลังจะตายไม่ใช่ข่าวใหม่ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะมองข้าม แต่ถึงแม้เมื่อเรามองเห็นหรืออ่านพบ ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความสนใจไว้ที่ปัญหานี้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะมองความทุกข์ยากที่ซับซ้อนจนเราไม่รู้จะช่วยได้อย่างไร ฉะนั้นเราจึงเบือนหน้าหนีไปทางอื่น

ถ้าเราได้ผ่านพ้นขั้นตอนแรกคือมองเห็นปัญหาจริงๆ ไปแล้ว เราก็จะมาถึงขั้นที่สอง นั่นคือ ฝ่าฟันความซับซ้อนเพื่อหาทางแก้ไข

การหาวิธีแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่เราไม่ทำไม่ได้ ถ้าเราต้องการทำให้ความห่วงใยของเราเกิดประโยชน์จริงๆ ถ้าเรามีคำตอบที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นผล ทุกครั้งที่องค์กรหรือปัจเจกชนถามว่า “เรา/ฉันจะช่วยได้อย่างไร?” เราก็จะสามารถลงมือปฏิบัติได้ ทำให้พลังความห่วงใยในโลกไม่สูญเปล่า แต่ความสลับซับซ้อนของปัญหาทำให้เป็นเรื่องยากที่จะวางขั้นตอนปฏิบัติสำหรับคนที่ห่วงใย และนั่นทำให้ความห่วงใยของพวกเขาไม่ค่อยก่อให้เกิดประโยชน์

การฝ่าฟันความซับซ้อนเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหามีทั้งหมดสี่ขั้นตอน กล่าวคือ การกำหนดเป้าหมาย การหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การหาเทคโนโลยีในอุดมคติสำหรับวิธีนั้นๆ และการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดมาใช้ไปพลางๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ซับซ้อน เช่น ยารักษาโรค หรือผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย เช่น มุ้ง

ตัวอย่างหนึ่งของขั้นตอนเหล่านี้คือปัญหาโรคเอดส์ แน่นอน เป้าหมายกว้างๆ ของเราคือการกำจัดโรคนี้ไปจากโลก วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการป้องกันโรคเอดส์ เทคโนโลยีในอุดมคติคือวัคซีนที่ให้ภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตหลังการฉีดเพียงหนึ่งครั้ง นั่นคือเหตุผลที่รัฐบาล บริษัทยา และมูลนิธิต่างๆ ให้เงินสนับสนุนการวิจัยวัคซีน แต่งานของพวกเขาน่าจะใช้เวลานานกว่าสิบปีจึงจะสำเร็จ ดังนั้นในระหว่างนี้ เราจึงต้องทำในสิ่งที่เราทำได้ และวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ตอนนี้คือ การโน้มน้าวให้คนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การบรรลุเป้าหมายด้านการป้องกันดังกล่าวแปลว่าเราต้องเริ่มวงจรที่มีสี่ขั้นตอนขึ้นใหม่ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่หยุดคิดหรือหยุดทำงาน และไม่ทำแบบเดียวกับที่เราเคยทำกับปัญหาโรคมาเลเรียและวัณโรคในยุคศตวรรษที่ 20 นั่นคือ ยอมแพ้ต่อความซับซ้อนและเลิกล้มความพยายามที่จะแก้ปัญหา

ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่มองเห็นปัญหาและค้นพบวิธีแก้ไขแล้ว คือการวัดผลกระทบจากงานของคุณ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลว คนอื่นๆ จะได้เรียนรู้จากความพยายามของคุณได้

แน่นอน นั่นหมายความว่าคุณต้องเก็บสถิติ คุณต้องแสดงผลให้ได้ว่า โครงการของคุณกำลังช่วยให้เด็กหลายล้านคนได้รับการฉีดวัคซีน คุณต้องแสดงให้เห็นได้ว่าเด็กๆ ที่ใกล้ตายจากโรคร้ายเหล่านั้นมีจำนวนลดลง นี่เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่เพราะมันจะช่วยให้คุณปรับปรุงโครงการนี้ได้เท่านั้น แต่สถิติเหล่านี้จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนอีกมากจากภาคธุรกิจและภาครัฐ

แต่ถ้าคุณอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นมีส่วนร่วม คุณต้องแสดงมากกว่าตัวเลข คุณต้องสื่อสารผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากงานของคุณ คนอื่นๆ จะได้รู้สึกว่า การช่วยชีวิตคนหนึ่งคนนั้น มีความหมายต่อครอบครัวของเขาอย่างไร

ผมจำได้ว่าผมเคยไปที่เมืองดาวอสหลายปีมาแล้ว เพื่อร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับอนามัยโลกที่กำลังอภิปรายเรื่องวิธีช่วยชีวิตคนหลายล้านคน หลายล้าน! ลองคิดถึงความรู้สึกอิ่มใจจากการได้ช่วยชีวิตคนเพียงหนึ่งคน แล้วก็คูณความรู้สึกนั้นด้วยหลักล้าน… แต่แล้ว งานนั้นก็กลับเป็นงานสัมมนาที่น่าเบื่อที่สุดในชีวิตของผม มันน่าเบื่อเสียจนขนาดผมก็ทนอยู่ไม่ได้

สิ่งที่ทำให้ผมจดจำประสบการณ์ครั้งนั้นได้แม่นก็คือ ผมเพิ่งกลับมาจากงานของบริษัทที่เราจัดเพื่อเปิดตัวเวอร์ชั่น 13 ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งของเรา และในงานนั้นผู้คนมากมายก็กระโดดขึ้นลงและตะโกนด้วยความตื่นเต้น ผมชอบทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เหตุใดเราจึงไม่สามารถทำให้คนตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นอีก ที่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์?

คุณไม่สามารถทำให้ใครตื่นเต้นกับอะไรได้ จนกว่าคุณจะช่วยให้พวกเขามองเห็นและรู้สึกได้ถึงผลกระทบ และวิธีที่คุณจะทำอย่างนั้นได้ก็เป็นคำถามที่ซับซ้อนข้อหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีอยู่ ใช่ ความไม่เท่าเทียมกันอยู่กับเรามาแล้วนานชั่วนิรันดร์ แต่เครื่องมือใหม่ๆ ที่ตอนนี้เรามีใช้เพื่อฝ่าฟันและลดทอนความซับซ้อนนั้นไม่ได้อยู่กับเรามาตลอด เครื่องมือเหล่านั้นเป็นของใหม่ ของที่จะช่วยให้ความห่วงใยของเราเกิดประโยชน์สูงสุดได้ และนั่นคือเหตุผลที่อนาคตจะแตกต่างจากอดีตได้

นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มอบความหมายให้กับยุคของเรา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต กำลังมอบโอกาสที่เราไม่เคยมีมาก่อน ในการกำจัดความแร้นแค้นในโลกและป้องกันความตายจากโรคร้ายแรงที่ป้องกันได้

เมื่อหกสิบปีที่แล้ว จอร์จ มาร์แชล {George Marshall ผู้นำกองทัพบกอเมริกันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ออกแบบแผนการฟื้นฟูทวีปยุโรปที่ได้รับการขนานนามว่า ‘แผนมาร์แชล’ (The Marshall Plan) ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1953} มากล่าวสุนทรพจน์ในงานวันรับปริญญาที่นี่ และประกาศแผนที่จะช่วยเหลือประเทศในทวีปยุโรปหลังสงคราม เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าความยากลำบากประการหนึ่งคือ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนมากเสียจนข้อเท็จจริงที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุนำเสนอต่อประชาชน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจสถานการณ์จริงๆ ได้ยาก เมื่อเฝ้าดูจากระยะทางที่ห่างไกลขนาดนี้ (ระหว่างอเมริกากับยุโรป) แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะเข้าใจความสำคัญของสถานการณ์จริงๆ”

สามสิบปีหลังจากที่มาร์แชลกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อนักศึกษารุ่นเดียวกับผมรับปริญญาโดยไม่มีผม เทคโนโลยีที่จะทำให้โลกเล็กลง เปิดกว้างยิ่งขึ้น มองเห็นเด่นชัดกว่าเดิม และใกล้กันมากกว่าเดิมก็กำลังอุบัติขึ้น

กำเนิดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลราคาถูกทำให้เกิดเครือข่ายอันทรงพลัง ที่ได้เปลี่ยนแปลงโอกาสในการเรียนรู้และติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์

สิ่งที่มหัศจรรย์มากๆ เกี่ยวกับเครือข่ายนี้คือ มันไม่เพียงแต่ย่นระยะทางและทำให้ทุกคนกลายเป็นเพื่อนบ้านของคุณเท่านั้น แต่มันยังเพิ่มจำนวนผู้ชาญฉลาดที่สามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งทำให้อัตราการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าทึ่ง

ในขณะเดียวกัน คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มีจำนวนเพียงหนึ่งในหกของประชากรโลกเท่านั้น นั่นหมายความว่ามันสมองอันสร้างสรรค์มากมายต้องถูกกีดกันออกนอกวงอภิปราย คนฉลาดที่มีทั้งปัญญาที่ใช้ได้ในโลกแห่งความจริงและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ผู้ไม่มีเทคโนโลยีที่จะลับพรสวรรค์หรือแบ่งปันไอเดียให้โลกรู้

เราต้องการให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ เพราะความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้กำลังก่อการปฏิวัติในสิ่งที่มนุษย์เราสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยเหลือไม่แต่เฉพาะรัฐบาลในประเทศต่างๆ แต่ยังช่วยให้มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน องค์กรเล็กๆ และแม้กระทั่งคนธรรมดา ได้มองเห็นปัญหา มองเห็นวิธีการแก้ไข และวัดผลของความพยายามของพวกเขาที่จะกำจัดความหิวโหย ความยากจน และความสิ้นหวังที่ จอร์จ มาร์แชล พูดถึงเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

สมาชิกครอบครัวฮาร์วาร์ดทุกท่าน สนามแห่งนี้คือหนึ่งในศูนย์รวมของพรสวรรค์ทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เพื่ออะไรกัน?

ไม่ต้องสงสัยว่าคณาจารย์ ศิษย์เก่า นักศึกษา และผู้อุปถัมภ์ของฮาร์วาร์ดจะไม่ใช้อำนาจและพลังของพวกเขาในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในประเทศนี้และทั่วโลก แต่เราจะทำให้ดีกว่าเดิมได้หรือเปล่า? ฮาร์วาร์ดจะทุ่มเทมันสมองเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของสถาบันแห่งนี้ได้หรือไม่?

ผมมีคำวิงวอนข้อหนึ่งที่อยากจะร้องขอต่อท่านอธิการบดีและเหล่าอาจารย์ทั้งหลาย ผู้เป็นผู้นำทางความคิดของฮาร์วาร์ด ในขณะที่พวกท่านจ้างอาจารย์ใหม่ มอบตำแหน่ง ทบทวนหลักสูตร และกำหนดเงื่อนไขของการมอบปริญญาบัตร กรุณาถามกันเองว่า:

เราควรทุ่มเทมันสมองที่ดีที่สุดของเราให้กับการแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดหรือไม่? ฮาร์วาร์ดควรสนับสนุนให้คณาจารย์พุ่งเป้าไปที่ความไม่เท่าเทียมกันที่ร้ายแรงที่สุดในโลกหรือไม่? ควรหรือไม่ที่นักศึกษาฮาร์วาร์ดจะได้เรียนเกี่ยวกับความเข้มข้นของความยากจนในโลก …ความอดอยากอันแพร่หลาย …ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด …เด็กผู้หญิงที่ไม่ได้ไปโรงเรียน …เด็กๆ ที่ตายจากโรคร้ายที่เรารักษาได้? ควรหรือไม่ที่กลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์ที่สุดในโลก จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มคนที่ไร้สิทธิที่สุด?

คำถามเหล่านี้ไม่ใช่การเล่นสำนวน แต่เป็นสิ่งที่จะต้องตอบด้วยนโยบายของพวกท่าน

แม่ของผม คนที่ภาคภูมิใจมากในวันที่ผมเข้าฮาร์วาร์ดได้ ไม่เคยหยุดผลักดันให้ผมทำงานเพื่อคนอื่นให้มากกว่าเดิม ไม่กี่วันก่อนงานแต่งงานของผม แม่จัดงานเลี้ยงให้เจ้าสาว และในงานนั้นแม่ก็อ่านจดหมายที่เขียนขึ้นให้เมลินดาให้แขกฟัง ตอนนั้นแม่ผมป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง แต่แม่ก็เห็นโอกาสที่จะเผยแพร่สารของแม่ จดหมายฉบับนั้นลงท้ายด้วยประโยคว่า “คนที่ได้รับอะไรไปมาก ย่อมถูกคาดหวังว่าจะให้มากเช่นกัน” (From those to whom much is given, much is expected)

เมื่อพวกคุณลองคิดถึงสิ่งที่พวกเราทุกคนในสนามแห่งนี้ได้รับ ไม่ว่าจะในด้านพรสวรรค์ อภิสิทธิ์ และ โอกาส พวกคุณก็จะเห็นว่าสิ่งที่โลกนี้ควรคาดหวังจากเรานั้น แทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย

เพื่อให้สอดคล้องกับความหวังของยุคนี้ ผมอยากจะกระตุ้นให้บัณฑิตทุกคนในที่นี้ครุ่นคิดถึงปัญหาที่ซับซ้อน ประเด็นที่เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันอันฝังรากลึกซึ้ง จนกลายเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านในเรื่องนั้นๆ ถ้าคุณทำให้เรื่องนั้นเป็นโฟกัสของอาชีพการงานได้ นั่นจะเป็นเรื่องวิเศษมากๆ แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเพื่อทำตัวให้เป็นประโยชน์ คุณเพียงแต่ต้องใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ใช้พลังของอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ทันข่าวสารข้อมูล ค้นหาคนอื่นๆ ที่มีความสนใจตรงกัน มองเห็นสิ่งกีดขวางต่างๆ และหาทางที่จะฝ่าฟันมันออกไป

อย่าปล่อยให้ความซับซ้อนหยุดคุณไว้กับที่ จงทำตัวเป็นนักเคลื่อนไหว จงต่อกรกับความไม่เท่าเทียมอันร้ายกาจ การทำแบบนี้จะกลายเป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งในชีวิตคุณ

บัณฑิตทั้งหลาย พวกคุณกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคอันน่าอัศจรรย์ ในขณะที่คุณกำลังจะลาจากฮาร์วาร์ด คุณมีเทคโนโลยีที่สมาชิกของคนรุ่นผมไม่เคยมี คุณมีความสำนึกในความไม่เท่าเทียมกันระดับโลก สำนึกซึ่งพวกเราไม่เคยมี และสำนึกเช่นนั้นก็น่าจะทำให้คุณมีมโนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ มโนธรรมที่จะคอยกวนใจคุณ ถ้าคุณทอดทิ้งเพื่อนมนุษย์ที่คุณสามารถช่วยเหลือได้ด้วยความพยายามเพียงน้อยนิด คุณมีมากกว่าที่พวกเรามี คุณจะต้องเริ่มเร็วขึ้น และทำงานนี้ไปนานขึ้น

เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่คุณรู้ คุณจะไม่ทำเช่นนั้นได้อย่างไร?

ผมหวังว่า พวกคุณจะกลับมาที่ฮาร์วาร์ดในอีก 30 ปีข้างหน้า และครุ่นคิดถึงสิ่งที่พวกคุณทำด้วยพรสวรรค์และพลังงานที่มี ผมหวังว่า คุณจะวัดตัวเองไม่ใช่ด้วยความสำเร็จในอาชีพการงานเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยระดับผลสำเร็จของความพยายามที่จะลดทอนความไม่เท่าเทียมกันที่ฝังรากลึกที่สุดในโลก …ด้วยระดับความดีที่คุณทำต่อเพื่อนมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ผู้ไม่มีอะไรเหมือนกับคุณเลยยกเว้นความเป็นมนุษย์."

"โชคดีครับ." Bill Gates

..............................................................
(สนใจ Transcript ต้นฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่)

1 ความคิดเห็น: