วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"อี้อู๋"บุกไทย

- อี้อู๋ จากจีน สู่ ไทย -

ประเทศจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอันดับที่ 2 (สูสีญี่ปุ่นรองแค่สหรัฐแต่ก็รุกคืบใกล้เข้ามาไปทุกที!) ประเทศที่สร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์มากมายให้โลกต้องตะลึง ไม่ขาดสาย กล่าวกันว่า เพียงแค่พญามังกรเคลื่อนตัวก็เกิดแรงสะท้านสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

ก่อนเข้า โครงการอี้อู๋เมืองไทย มาชมสังเขป "อี้อู๋ (Yiwu International Trade Cityt)" ต้นฉบับในจีนก่อน


อี้อู๋ เป็นเมืองค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบัน และถูกขนานนามว่า "ซุปเปอร์มาร์เก็ตของโลก" โดยใช้เงินลงทุนกว่า 700 ล้านหยวน ทำให้อี้อูเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าครบวงจร ศูนย์รวมข่าวสาร และฐานการส่งออกสินค้าของประเทศจีน ครอบคลุมพื้นที่การค้ากว่า 1.5 ล้านตร.ม. มีร้านค้ากว่า 5 หมื่นร้านค้า จนมีผู้กล่าวว่า ถ้าเอาร้านค้าในศูนย์ขายส่งสินค้าของอี้อู มาเรียงรายต่อๆกัน จะได้ความยาวประมาณ 24 กิโลเมตร และอาคารนี้มีความยาวกว่า 6 กิโลเมตร มีคนเคยคำนวนว่า ถ้าหยุดทุกร้านร้านละ 1 นาที วันหนึ่งเดิน 8 ชั่วโมง ต้องใช้เวลา กว่า ๒ เดือนจึงเดินให้ทั่วถึงทั้งอาคารได้


......................................................................


มาที่ โครงการ อี้อู๋เมืองไทย หรือ โครงการ "China City Complex (CCC)"
บางนา
(ข้อมูลจากประชาติธุรกิจ)


ตระกูลเก่าแก่ขายที่มรดก 70 ไร่ 700 ล้านบาท ข้างศูนย์วัสดุบุญถาวร บางนา-ตราด กม. 9 สร้างศูนย์ค้าส่งออกสินค้า ภายใต้โครงการ China City Complex ต้นตำรับอี้อู๋ โมเดล ของกลุ่มทุนจีน Yunan-based Ashima Group

โครงการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนา ที่ดินบนถนนบางนา-ตราด ก.ม.ที่ 8-9 ในพื้นที่ประมาณ 64 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 6,200 ล้านหยวน เพื่อจัดทำเป็นศูนย์ค้าส่งออกสินค้าแห่งที่ 2 ภายใต้ "อี้อู๋ โมเดล" (Yi Wu Model) ซึ่งมีเทคโนโลยีโนว์ฮาวทางการค้าส่งเชื่อมโยงกับทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศจีน

ทั้งนี้แผนพัฒนาการลงทุน China City Complex จะแบ่งโครงการออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสที่ 1 ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านหยวน นำร่องก่อสร้างศูนย์ค้าส่งออกสินค้าพื้นที่ขนาด 500,000-700,000 ตารางเมตร เริ่มก่อสร้างเดือนมีนาคม 2554 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2555 โดยจะเปิดให้ร้านค้าเข้ามาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมกว่า 10,000 ร้านค้า แบ่งสัดส่วนร้านสินค้าไทย 30% และจีน 70% มีการคัดเลือกสินค้าหลักพร้อมส่งออกเข้ามาวางขาย 7 หมวด ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องไฟฟ้า, อัญมณีและเครื่องประดับ, อะไหล่รถยนต์, ของตกแต่งบ้าน, ของเล่นและสินค้าไลฟ์สไตล์, อาหารและสินค้าแปรรูป

ส่วนเฟสที่ 2 จะเริ่มขยายก็ต่อเมื่อผลการดำเนินงานเฟสแรกประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จากนั้นกลุ่มทุนใหญ่ในจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจภาคเอกชนจีน ภายใต้สมาคม ASEAN-CHINA Economic and Trade Promotion Association เตรียมจะย้ายฐานโรงงานผลิตค้าหมวดต่าง ๆ เข้ามาอยู่ใน China City Complex ในประเทศไทยต่อไป


......................................................................



ลองดู นานาทัศนะ เกี่ยวกับผลกระทบจาก โครงการ อี้อู๋เมืองไทย


....1. นักวิชาการท่านหนึ่ง เปิดเผยว่า ผลการศึกษาการเคลื่อนย้ายทุนของนักธุรกิจจีนที่เข้ามาพัฒนา เมกะโปรเจ็กต์ศูนย์กระจายสินค้า "ไชน่า ซิตี้ คอมเพล็กซ์" มูลค่า 45,000 ล้านบาท บริเวณถนนบางนา-ตราด ก.ม. 8-9 นั้น ประเมินผลด้านบวก ไทยจะมีนักท่องเที่ยวตลาดจีน โลจิสติกส์สินค้า และกลุ่มธุรกิจไทย 30% ที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปเปิดพื้นที่น่าจะขายสินค้าได้ง่ายขึ้น....

...2. ผู้บริโภค จะได้สินค้า ที่หลากหลายขึ้น ในราคาที่ถูกลง ผู้ผลิตในประเทศ ที่เข้มแข็งไม่พอ จะไม่สามารถต่อสู้ในตลาดได้...

....3. เมื่อนำหลักเศรษฐศาสตร์เป็นตัวชี้วัด เกิดการสูญเสียกับผู้ประกอบการไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมมูลค่าปีแรกราว 58,247 ล้านบาท คิดเป็น 0.6% ของจีดีพี แยกได้เป็นผลกระทบทางตรงกับ 1.อุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์ค้าส่งหลักอย่างโบ๊เบ๊ สำเพ็ง ประตน้ำ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าย่อยกระจายอยู่ในแต่ละศูนย์ 2,000-3,000 ร้าน มีรายได้หมุนเวียนศูนย์ละ 3,200-4,800 ล้านบาท/ปี เมื่อ ไชน่า ซิตี้ คอมเพล็กซ์ เปิดบริการ รายได้จะหายไปจากศูนย์เหล่านี้ประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด...

...4.โครงการนี้ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย มันไม่ใช่โครงการอุุตสาหกรรมที่เราทำเองไม่ได้ถึงต้องส่งเสริมให้ต่างประเทศมาทำ จีนไม่ได้นำความรู้ เทคโนโลยี่อะไรมาให้เรา ไม่ได้ช่วยเราเปิดตลาดต่างประเทศ ศูนย์กาiค้านั้นคนไทยสร้างเองได้ สร้างแบบไหนก็ได้มีมีดาษดื่น

ศูนย์การค้าสินค้าจีน มีแต่นำสินค้าจีนราคาถูกๆมาทุ่มตลาดเมืองไทย พวกนี้ขนกันมาเป็นตึกๆเลยครับ ถ้าใครเคยไปศูนย์ขายส่งในกวางตุ้งจะทราบดี ศูนย์ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ เครื่องครัว สุุขภัณฑ์ไม่ได้ขายกันเป็นซุ้มๆนะครับ ขายกันทีละหลายๆตึก แต่ละตึกเท่าๆเซ็นทรัลบางนาที่อยู่ใกล้ๆ เรียงๆกันไปสองข้างถนน นับรวมกันเป็นสิบๆตึกเลยครับ พวกนี้ค้าขายทุ่มตลาดกันแบบลืมตาย คือว่าตายสิบเกิดร้อยจริงๆ พ่อค้าคนไทยไม่มีทางสู้รบปรบมือได้เลย

การปล่อยให้จีนมาทุ่มค้าปลีกนี่เราเสียเปรียบสุดๆเลยครับ แย่ยิ่งกว่าพวกโลตัส คาร์ฟูร์เสียอีก เพราะพวกนั้นยังขายสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในไทย แต่นี่เล่นเอาสินค้าจีนมาทุ่มกลางกทม.นี่ สงสารพวกเอสเอ็มอีจริงๆ

ไม่ใช่เฉพาะเสื้อผ้าที่ตาย ยังมีพวกของเล่น กิ๊ฟท์ช้อป เครื่องประดับ เครื่องไฟฟ้า เครื่องหนัง เครื่องเขียนเฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว ห้องน้ำ คอมพ์ ตายหมู่กันเลยครับ ตายทั้งโรงงานผู้ผลิตและร้านค้าย่อย แรงงานที่จะตกงานอีกเท่าไหร่ น่าอนาถจริงๆ


...5. เจ้าพ่อโบ๊เบ๊ นาย "คมสรรค์ วิจิตรกรม" ประธานศูนย์บริการส่งออกโบ๊เบ๊ และอุปนายกสมาคมชาวโบ๊เบ๊ กล่าวว่า การสร้างศูนย์แสดงสินค้านานาชาติไทย- จีน หรือ China City Complex ทำให้ได้มีการประสานงานกับผู้ประกอบการ SME เป็นหลัก ประมาณ 20,000 กว่ารายในละแวกพื้นที่ ในการที่จะตั้งรับกับ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งในตลาดภายในประเทศที่มีระดับกลางถึงระดับล่าง จะเห็นได้ว่า Consumption ของตลาดจะกระจุกตัวอยู่ 3 จุด ซึ่งได้แก่ โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และจตุจักร มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรายย่อยที่อยู่ในตลาดค้าส่งนี้ เป็นฐานหลักในการกระจายสินค้าให้ 76 จังหวัด

ดังนั้นหากมีการจัดตั้ง China City Complex ขึ้นมาอาจทำให้ตลาดส่วนนี้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้แบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 ส่วน ได้แก่ Trade Logistic และ Property ดังนี้

1. Trade มีแนวคิดว่าหากมีการเกิด China City Complex ขึ้นมา คงเป็นสิ่งที่ยับยั้งได้ยาก ดังนั้น ควรหาวิธีที่จะดำเนินการและดำรงอยู่ต่อไปได้ หรือเดินไปด้วยกันได้ เช่น คนที่เคยเป็นเอเย่นต์ควรเจรจาหรือตกลงกับผู้ค้ารายย่อยก่อนที่จะนำสินค้าเข้ามา โดยเจรจาในเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ และควรมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ไทยเสียบเปรียบ

เนื่องจากการที่จีนเข้ามาสร้าง China City Complex ก็เพื่อต้องการให้คนจีนนำสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาขาย ซึ่งการที่จีนเข้ามามีหน้าร้านในประเทศไทย จะทำให้มูลค่าการค้าของไทยลดลง ความมั่นใจในแบบและดีไซน์จะลดลงในกรณีของบริษัทที่จ้างให้ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตให้ ดังนั้น ทางออก คือ ไทยต้องเจรจาขอเป็นเอเย่นต์ในสินค้าที่จีนผลิตอยู่

2. Logistic ในที่นี้กล่าวถึงโลจิสติกส์ในระดับใกล้ตัว กล่าวคือ ในพื้นที่เศรษฐกิจ 3 แหล่ง ซึ่งได้แก่ โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และจตุจักร ซึ่งผู้ประกอบการในต่างจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จากเดิมที่เคยซื้อจากแหล่งสินค้าส่ง 3 แหล่งของไทย หากมี China City Complex เกิดขึ้นจะทำให้เกิด Logistic Base ไปอยู่ตรงจุดนั้น ตลาดต่างจังหวัดที่ไม่เน้นดีไซน์จะหายไป โดยจะมุ่งหน้าไปซื้อที่ China City Complex โดยตรง เพื่อไปซื้อสิ่งที่ถูกกว่า

เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนนำเข้ามาขายเองโดยไม่ได้ผ่านเอเย่นทั้ง 3 ตลาดนี้แล้ว จึงทำให้มีการถ่ายเทโลจิสติกส์ไปอยู่ที่จุด China City Complex ซึ่งถ้าหากจีนสามารถบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี จะทำให้จีนสามารถชี้นำโลจิสติกส์ในอนาคตได้

3. Property กล่าวคือ มูลค่าของตลาดโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และจตุจักรจะลดลง การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษาในเรื่องของ AEC เพื่อที่จะทดแทนในส่วนที่ไทยขาดหายไปในเรื่องของมูลค่าต่างๆ ในการพัฒนาและออกแบบสินค้า เพื่อเกิด Young Designer พร้อมกับการสอนให้เป็นผู้ค้าด้วย ทั้งนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการเป็นสินค้าของไทย ซึ่งจะสามารถแบ่ง Label และ Market ได้อย่างชัดเจน

สำหรับในส่วนแนวโน้มของธุรกิจที่ผลิตเพื่อขายหน้าร้าน ควรใช้ Knowledge Base ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อสร้างความแตกต่างในด้านคุณภาพไม่ใช่เป็นการสร้างวิธีการผลิตแข่งกับจีน นอกจากการตั้งรับแล้ว ในส่วนของธุรกิจ SME ควรมีแนวคิดในแนวรุกด้วย โดยการทำตลาดในต่างประเทศเช่นเดียวกับ China City Complex เนื่องจาก SME ไทยจำนวนหนึ่งมีความพร้อมและมีศักยภาพเพียงพอ พร้อมทั้งมีความต้องการทำตลาดในต่างประเทศด้วย จึงควรได้รับการสนับสนุนตรงจุดนี้....

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 มกราคม 2555 เวลา 21:22

    สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางภายในประเทศจีน
    ขออนุญาตแนะนำบริการจองซื้อตั๋วเครื่องบินภายในประเทศจีน ราคาถูก
    http://www.knowchinese.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=528139#down

    ตอบลบ