วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สนทนาไซ-ไฟ



แนะนำเว็บไซต์ Sci-Fi สนทนาไซ-ไฟ(+แฟนเพจ)
เชิญเข้าไปชมที่ : http://www.scifi.siligon.com/


"จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้" อัลเบิร์ต ไอสไตน์ กล่าว...เป็นประโยคที่คุ้นเคยกันดีและยังคงเป็นอมตะ ถ้ามนุษย์ขาดจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ มนุษย์ก็คงเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมธรรมดาๆทั่วๆไป ไม่สามารถพัฒนาเป็นอารยธรรมล้ำสมัย-ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีย์อื่นๆของโลกได้ ความจริงข้อนี้เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วในยุคปัจจุบัน และถ้าสังเกต จินตนาการในเชิง ไซ-ไฟ นี่แหละที่เป็นจินตนาการอันทรงอิทธิพลใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ ทั้งในแง่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่ๆ มุมมองตรรกะวิธีคิด พื้นฐานความเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ของชีวิต-โลก-จักรวาล หรือแม้แต่ถ้าหากจะเป็นแค่เพียงความบันเทิง สื่อที่มาในแนว ไซ-ไฟ ก็ดูจะเหมือนจะให้ความตื่นตาตื่นใจ ทั้งกระตุ้นต่อมความคิดจินตนาการต่อผู้เสพได้ค่อนข้างรุนแรง! โดยเฉพาะจากภาพยนตร์ไซ-ไฟ
.......................................................

ทัศนะการนิยาม "ไซ-ไฟ" ของผู้ทรงคุณวุฒิ

"ไอแซก อาซิมอฟ" ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ได้ให้คำนิยามของนิยายไซไฟไว้ว่า... "นิยายวิทยาศาสตร์ มีสามแบบคือ หนึ่งอะไรจะเกิดขึ้น...ถ้า... สองเพียงแต่....ถ้า และ สาม ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นต่อๆไป"...+_+

"อาร์เธอ ซี คลาร์ก" บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ อีกท่านหนึ่ง ได้เคยให้นิยามไว้ "นิยายวิทยาศาสตร์ หมายถึงงานวรรณกรรมที่สะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์ในบริบทแห่งวัฒนธรรมของสังคมแห่งตนภายใต้อิทธิพลของพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี"

"โรเบิร์ต เอ ไฮน์ไลน์" นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นลายครามของสหรัฐ ได้ให้คำนิยามของนิยายวิทยาศาสตร์ว่า "นิยายวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของการคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยความรู้ของโลกปัจจุบันและอดีต และโดยอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติ และความสำคัญของระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ (การสังเกต การตั้งสมมติฐาน การทดสอบสมมติฐาน และการสรุปผล)

"เฟรดเดอริก โพห์ล" นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์นามกระเดื่องผู้หนึ่งได้ให้คำจำกัดความของนิยายวิทยาศาสตร์ว่า "นิยายวิทยาศาสตร์เป็นนิยายที่ แสดงถึงผลที่ตามมา เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษา ผลกระทบจากการกระทำและสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์"

*ถ้าจะสรุปให้เข้าใจสั้นๆเข้าใจง่ายๆที่สุดก็คือ นวนิยาย-ภาพยนตร์-หนังสือการ์ตูน หรือสื่อบันเทิงคดีอื่นๆ ถ้าหากโครงเรื่องโดยรวมมีการจินตนาการถึงองค์ประกอบหลักอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

1. มีสิ่งประดิษฐ์-อุปกรณ์เทคโนโลยีไฮเทค, หุ่นยนต์ ฯลฯ รวมทั้งผลกระทบของมัน(อันมักว่าด้วยโลก-เมืองในอนาคต)

2. มีมนุษย์ต่างดาว, สิ่งมีชีวิตประหลาดนอกโลก, หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตพิเศษในโลก(ที่เกิดจากกระบวนการพิเศษทางวิทยาศาสตร์)

3. มีเดินทางออกนอกโลก-การท่องสำรวจอวกาศ ไปยังต่างดาวอื่นๆ, หรือแม้การเดินทางผ่านกาลเวลา ย้อนอดีต-ท่องอนาคต

ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็น ไซ-ไฟ ได้แล้ว และแน่นอนว่าในโลกยุคใหม่ปัจจุบัน อันมักเรียกกันว่า ยุคโพสต์โมเดิร์น(Post-Modern) เป็นยุคแห่งความหลากหลาย ไซ-ไฟ สามารถจัดเป็นประเภทลูกผสม(Hybrid) ได้มากมายไม่ว่าจะเป็น Sci-fi Action, Sci-fi Thriller, Sci-fi Horror, Sci-fi Drama, Sci-fi Comedy ฯลฯ...สุดแท้แต่ผู้แต่งหรือผู้ชมจะตีความจัดให้เป็นประเภทไหน (*ในขณะเดียวกัน หนัง-นิยาย-บันเทิงคดีตระกูลอื่นๆ บางทีก็มีความเป็น ไซ-ไฟ เจือปนอยู่ด้วยบ้างเช่นกัน แต่อาจเป็นเพียงส่วนเสริมเล็กๆน้อยๆ หรือมากพอสมควรก็แล้วแต่)



2 ความคิดเห็น: